(เพิ่มเติม) ศาล รธน.วินิจฉัยการแก้ไขที่มา ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เข้าข่ายยุบพรรคฯ

ข่าวการเมือง Wednesday November 20, 2013 16:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันอำนาจในการวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มาของ ส.ว.ตามที่มีผู้ยื่นคำร้อง พร้อมทั้งมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่าการแก้ไขร่างฯ ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งขั้นตอนการพิจารณาและวิธีการเสนอร่างฯ รวมทั้งกระบวนการลงมติเพื่อรับหลักการร่างฯ ฉบับดังกล่าวยังขัดต่อระเบียบรัฐสภาและเกิดการทุจริตในกรณีที่สมาชิกรัฐสภาเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน

แต่อย่างไรก็ตาม ตุลาการฯ ระบุว่ากรณีที่เกิดขึ้นยังไม่เข้าข่ายต้องให้มีคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง

*คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

ตุลาการฯ ระบุว่า ในคดีนี้ศาลกำหนดประเด็นวินิจฉัย 2 ประเด็น คือ กระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีลักษณะที่เป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศด้วยวิธีการที่ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของร่างฯ ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศด้วยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่

ทั้งนี้ ศาลเริ่มพิจารณาจากอำนาจในการวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่าหรือไม่ประเทศที่นำระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมาใช้ในการปกครองประเทศ ล้วนมีวัตถุประสงค์และมุ่งหมายออกแบบหรือสร้างกลไลในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพประชาชนในการจะทำให้ประชาชนมีบทบาทมีส่วนร่วมปกครองประเทศและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ อีกทั้งสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุล ระหว่างองค์กรหรือสถาบันทางการเมือง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดดุลยภาพในการใช้อำนาจประชาธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชนตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ 3 อำนาจ คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ

ดังจะเห็นได้จากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จัดทำใหม่นี้มีสาระสำคัญเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันของชาวไทยในการรักษาไว้ซึ่งเอกราชและความมั่นคงของชาติ การทำนุบำรุงศาสนาทุกศาสนา การเทิดทูนพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การยึดถือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นวิถีทางในการปกครองประเทศ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน ให้ประชาชนมีบทบาทร่วมในการปกครองและตรวจสอบอำนาจรัฐ การกำหนดกลไกสถาบันการเมืองทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ให้มีดุลยภาพและประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองในระบบรัฐสภา รวมทั้งให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่นสามารถปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้องสุจริตและเป็นธรรม

จากหลักการดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มุ่งหมายให้องค์กรหรือสถาบันการเมืองปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้องชอบธรรม มีความเป็นอิสระและซื่อสัตย์สุจริต เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทยโดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ไม่ประสงค์ให้องค์กรหรือสถาบันการเมืองใดบิดเบือนการใช้อำนาจโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ปราศจากความชอบธรรม อีกทั้งไม่ประสงค์ให้องค์กรหรือสถาบันการเมืองใดมาเป็นข้ออ้างในการสนับสนุน ค้ำจุน ในอันที่จะแสวงหาประโยชน์กลุ่มตนหรือพวกพ้องจากการใช้อำนาจนั้นๆ

อย่างไรก็ดี ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะให้ถือมติเสียงข้างมากก็ตาม แต่หากละเลยหรือใช้อำนาจอำเภอใจกดขี่ข่มเหงฝ่ายเสียงข้างน้อย โดยไม่ฟังเหตุผลและขัดหลักการจนทำให้ฝ่ายเสียงข้างน้อยไม่มีที่อยู่ที่ยืนแล้วไซร้จะถือว่าเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร หากแต่จะกลายเป็นระบอบเผด็จการฝ่ายข้างมาก ขัดแย้งต่อระบอบการปกครองของประเทศอย่างชัดแจ้ง

ซึ่งหลักการพื้นฐานสำคัญนี้ได้รับการยืนยันมาตลอดว่าต้องมีมาตรการป้องกันการใช้อำนาจบิดเบือนการใช้อำนาจตามอำเภอใจของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่มาใช้อำนาจประชาธิปไตยของประชาชน โดยให้ตั้งมั่นอยู่บนหลักการแห่งการใช้อำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจของปวงชนชาวไทย เพื่อให้แต่ละองค์กรหรือสถาบันการเมืองที่ใช้อำนาจอยู่ อยู่ในสถานะที่จะตรวจสอบถ่วงดุลย์และทัดทานเพื่อใช้อำนาจกันได้อย่างเหมาะสม มิใช่แบ่งแยกเป็นพื้นที่อิสระของแต่ละฝ่ายที่จะใช้อำนาจตามอำเภอใจอย่างไรก็ได้ เพราะหากปล่อยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลแล้วย่อมเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดความเสียหายและนำพาประเทศชาติให้เสื่อมโทรมลง เพราะความติดหลงและมัวเมาในอำนาจของผู้ถืออำนาจรัฐ

ในการนี้อาจกล่าวได้ว่าองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยไม่ว่าจะเป็นประมุขของรัฐ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือศาลถูกจัดตั้งขึ้นหรือได้รับมอบอำนาจมาจากรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ดังนั้น การใช้อำนาจขององค์กรเหล่านี้จึงต้องถูกจำกัดการใช้อำนาจทั้งในรูปแบบและเนื้อหา จึงมีผลให้การใช้อำนาจขององค์กรเหล่านี้ไม่สามารถขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญได้ โดยเหตุนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 จึงได้นำหลักนิติธรรมมากำกับการใช้อำนาจของทุกฝ่ายทุกองค์กร และทุกหน่วยงานของรัฐบาล ภายใต้หลักการว่านอกจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่ทั่วไปแล้ว ยังต้องใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามหลักนิติธรรมด้วย กรณีจึงใคร่ปฏิบัติตามบทกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือหลักเสียงข้างมากเพียงเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรมควบคู่กันไปด้วย

การอ้างหลักเสียงข้างมากโดยมิได้คำนึงถึงเสียงข้างน้อย เพื่อหยิบยกมาสนับสนุนการใช้อำนาจตามอำเภอใจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของผู้ใช้อำนาจ ท่ามกลางความทับซ้อนระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนหรือกลุ่มบุคคล ผลประโยชน์ของประเทศชาติ และความสงบสุขของประชาชนโดยรวม และการใดก็ตามที่จะนำไปสู่ความเสียหาย เสื่อมโทรมของประเทศชาติ หรือการวิวาทบาดหมางแตกสามัคคีกันรุนแรงระหว่างประชาชน การนั้นย่อมขัดต่อหลักยุติธรรมตามมาตรา 3 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ตามมาตรา 68 การใช้อำนาจตามกฎหมายต้องเป็นไปโดยสุจริต จะใช้โดยทุจริต ฉ้อฉลหรือมีประโยชน์ทับซ้อนไม่ได้ เพราะมิฉะนั้นจะทำให้สุจริตชนส่วนใหญ่ของประเทศสูญเสียประโยชน์อันพึงมีพึงได้ให้ไปตกแก่บุคคลหรือคณะบุคคลที่ใช้อำนาจโดยปราศจากความชอบธรรมหลักนิติธรรมถือเป็นแนวทางในการปกครองที่มาจากหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติ อันเป็นความเป็นธรรมที่บริสุทธิ์ ปราศจากอคติโดยไม่มีผลประโยชน์ส่วนตนเข้ามาเกี่ยวข้องและแอบแฝง หลักนิติธรรมจึงเป็นหลักสำคัญของกฎหมายที่อยู่เหนือบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานต่างๆ ของรัฐต้องยึดถือปฏิบัติ

ส่วนหลักการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยหมายถึง การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน มิใช่การปกครองตามแนวคิดของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และมิใช่การปกครองที่อ้างอิงแต่เพียงฐานอำนาจที่มาจากระบบการเลือกตั้งเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยยังมีองค์ประกอบสำคัญหลายประการ การที่องค์กรหรือสถาบันในฐานะผู้ใช้อำนาจมักอ้างเสมอว่า ตนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่กลับนำแนวความคิดของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาปฏิบัติ หาใช่วิธีการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีความมุ่งหมายเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยส่วนรวมภายใต้หลักนิติธรรมไม่

เนื่องจากประชาธิปไตยไม่ได้หมายถึงเพียงการได้รับเลือกตั้ง หรือชนะการเลือกตั้งเท่านั้น เพราะเสียงส่วนใหญ่จากการเลือกตั้งมีความหมายสะท้อนถึงความต้องการของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในแต่ละครั้งเท่านั้น หาใช่เป็นเหตุให้ตัวแทนใช้อำนาจได้ ต้องคำนึงถึงความถูกต้องและชอบธรรมตามหลักนิติธรรมแต่อย่างใด ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มีศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจเพื่อให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมภายใต้หลักการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ในการทำให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้รับการคุ้มครองเป็นรูปธรรม ควบคู่กับการธำรงและรักษาไว้ซึ่งความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญ

ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรค 5 ที่ว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ" ประกอบมาตรา 27 ที่ว่า"สิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดโดยปริยาย ถือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลรวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง"

ตุลาการฯ ระบุว่า เมื่อพิจารณาโดยตลอดแล้วเห็นว่าคดีนี้ผู้ร้องใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรค 2 ด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าผู้ถูกร้องได้กระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ (ยังมีต่อ)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ