ทั้งนี้ ศาลวินิจฉัยโดยมติเสียงข้างมาก 6:3 ว่าการพิจารณาและลงมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 122, มาตรา 125 วรรค 1 และ 2, มาตรา 126 วรรค 3, มาตรา 291 และ มาตรา 3 วรรค 2 และวินิจฉัยด้วยมติเสียงข้างมาก 5 :4 ว่า มีเนื้อความที่เป็นสาระสำคัญขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานและเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 50 อันเป็นการกระทำให้ผู้ถูกร้องได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 50 ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 1
ส่วนที่ผู้ร้องขอให้ยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารของพรรคการเมือง ศาลเห็นว่ายังไม่เข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญปี 50 ในมาตรา 68 วรรค 3 และ 4 จึงให้ยกคำร้องในส่วนนี้
*คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
ตุลาการฯ ระบุว่า ในคดีนี้ศาลกำหนดประเด็นวินิจฉัย 2 ประเด็น คือ กระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีลักษณะที่เป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศด้วยวิธีการที่ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของร่างฯ ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศด้วยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่
ทั้งนี้ ศาลเริ่มพิจารณาจากอำนาจในการวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่าหรือไม่ประเทศที่นำระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมาใช้ในการปกครองประเทศ ล้วนมีวัตถุประสงค์และมุ่งหมายออกแบบหรือสร้างกลไลในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพประชาชนในการจะทำให้ประชาชนมีบทบาทมีส่วนร่วมปกครองประเทศและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ อีกทั้งสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุล ระหว่างองค์กรหรือสถาบันทางการเมือง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดดุลยภาพในการใช้อำนาจประชาธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชนตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ 3 อำนาจ คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ
ดังจะเห็นได้จากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จัดทำใหม่นี้มีสาระสำคัญเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันของชาวไทยในการรักษาไว้ซึ่งเอกราชและความมั่นคงของชาติ การทำนุบำรุงศาสนาทุกศาสนา การเทิดทูนพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การยึดถือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นวิถีทางในการปกครองประเทศ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน ให้ประชาชนมีบทบาทร่วมในการปกครองและตรวจสอบอำนาจรัฐ การกำหนดกลไกสถาบันการเมืองทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ให้มีดุลยภาพและประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองในระบบรัฐสภา รวมทั้งให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่นสามารถปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้องสุจริตและเป็นธรรม
จากหลักการดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มุ่งหมายให้องค์กรหรือสถาบันการเมืองปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้องชอบธรรม มีความเป็นอิสระและซื่อสัตย์สุจริต เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทยโดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ไม่ประสงค์ให้องค์กรหรือสถาบันการเมืองใดบิดเบือนการใช้อำนาจโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ปราศจากความชอบธรรม อีกทั้งไม่ประสงค์ให้องค์กรหรือสถาบันการเมืองใดมาเป็นข้ออ้างในการสนับสนุน ค้ำจุน ในอันที่จะแสวงหาประโยชน์กลุ่มตนหรือพวกพ้องจากการใช้อำนาจนั้นๆ
อย่างไรก็ดี ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะให้ถือมติเสียงข้างมากก็ตาม แต่หากละเลยหรือใช้อำนาจอำเภอใจกดขี่ข่มเหงฝ่ายเสียงข้างน้อย โดยไม่ฟังเหตุผลและขัดหลักการจนทำให้ฝ่ายเสียงข้างน้อยไม่มีที่อยู่ที่ยืนแล้วไซร้จะถือว่าเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร หากแต่จะกลายเป็นระบอบเผด็จการฝ่ายข้างมาก ขัดแย้งต่อระบอบการปกครองของประเทศอย่างชัดแจ้ง
ซึ่งหลักการพื้นฐานสำคัญนี้ได้รับการยืนยันมาตลอดว่าต้องมีมาตรการป้องกันการใช้อำนาจบิดเบือนการใช้อำนาจตามอำเภอใจของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่มาใช้อำนาจประชาธิปไตยของประชาชน โดยให้ตั้งมั่นอยู่บนหลักการแห่งการใช้อำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจของปวงชนชาวไทย เพื่อให้แต่ละองค์กรหรือสถาบันการเมืองที่ใช้อำนาจอยู่ อยู่ในสถานะที่จะตรวจสอบถ่วงดุลย์และทัดทานเพื่อใช้อำนาจกันได้อย่างเหมาะสม มิใช่แบ่งแยกเป็นพื้นที่อิสระของแต่ละฝ่ายที่จะใช้อำนาจตามอำเภอใจอย่างไรก็ได้ เพราะหากปล่อยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลแล้วย่อมเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดความเสียหายและนำพาประเทศชาติให้เสื่อมโทรมลง เพราะความติดหลงและมัวเมาในอำนาจของผู้ถืออำนาจรัฐ
ในการนี้อาจกล่าวได้ว่าองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยไม่ว่าจะเป็นประมุขของรัฐ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือศาลถูกจัดตั้งขึ้นหรือได้รับมอบอำนาจมาจากรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ดังนั้น การใช้อำนาจขององค์กรเหล่านี้จึงต้องถูกจำกัดการใช้อำนาจทั้งในรูปแบบและเนื้อหา จึงมีผลให้การใช้อำนาจขององค์กรเหล่านี้ไม่สามารถขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญได้ โดยเหตุนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 จึงได้นำหลักนิติธรรมมากำกับการใช้อำนาจของทุกฝ่ายทุกองค์กร และทุกหน่วยงานของรัฐบาล ภายใต้หลักการว่านอกจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่ทั่วไปแล้ว ยังต้องใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามหลักนิติธรรมด้วย กรณีจึงใคร่ปฏิบัติตามบทกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือหลักเสียงข้างมากเพียงเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรมควบคู่กันไปด้วย
การอ้างหลักเสียงข้างมากโดยมิได้คำนึงถึงเสียงข้างน้อย เพื่อหยิบยกมาสนับสนุนการใช้อำนาจตามอำเภอใจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของผู้ใช้อำนาจ ท่ามกลางความทับซ้อนระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนหรือกลุ่มบุคคล ผลประโยชน์ของประเทศชาติ และความสงบสุขของประชาชนโดยรวม และการใดก็ตามที่จะนำไปสู่ความเสียหาย เสื่อมโทรมของประเทศชาติ หรือการวิวาทบาดหมางแตกสามัคคีกันรุนแรงระหว่างประชาชน การนั้นย่อมขัดต่อหลักยุติธรรมตามมาตรา 3 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ตามมาตรา 68 การใช้อำนาจตามกฎหมายต้องเป็นไปโดยสุจริต จะใช้โดยทุจริต ฉ้อฉลหรือมีประโยชน์ทับซ้อนไม่ได้ เพราะมิฉะนั้นจะทำให้สุจริตชนส่วนใหญ่ของประเทศสูญเสียประโยชน์อันพึงมีพึงได้ให้ไปตกแก่บุคคลหรือคณะบุคคลที่ใช้อำนาจโดยปราศจากความชอบธรรมหลักนิติธรรมถือเป็นแนวทางในการปกครองที่มาจากหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติ อันเป็นความเป็นธรรมที่บริสุทธิ์ ปราศจากอคติโดยไม่มีผลประโยชน์ส่วนตนเข้ามาเกี่ยวข้องและแอบแฝง หลักนิติธรรมจึงเป็นหลักสำคัญของกฎหมายที่อยู่เหนือบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานต่างๆ ของรัฐต้องยึดถือปฏิบัติ
ส่วนหลักการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยหมายถึง การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน มิใช่การปกครองตามแนวคิดของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และมิใช่การปกครองที่อ้างอิงแต่เพียงฐานอำนาจที่มาจากระบบการเลือกตั้งเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยยังมีองค์ประกอบสำคัญหลายประการ การที่องค์กรหรือสถาบันในฐานะผู้ใช้อำนาจมักอ้างเสมอว่า ตนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่กลับนำแนวความคิดของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาปฏิบัติ หาใช่วิธีการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีความมุ่งหมายเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยส่วนรวมภายใต้หลักนิติธรรมไม่
เนื่องจากประชาธิปไตยไม่ได้หมายถึงเพียงการได้รับเลือกตั้ง หรือชนะการเลือกตั้งเท่านั้น เพราะเสียงส่วนใหญ่จากการเลือกตั้งมีความหมายสะท้อนถึงความต้องการของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในแต่ละครั้งเท่านั้น หาใช่เป็นเหตุให้ตัวแทนใช้อำนาจได้ ต้องคำนึงถึงความถูกต้องและชอบธรรมตามหลักนิติธรรมแต่อย่างใด ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มีศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจเพื่อให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมภายใต้หลักการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ในการทำให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้รับการคุ้มครองเป็นรูปธรรม ควบคู่กับการธำรงและรักษาไว้ซึ่งความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญ
ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรค 5 ที่ว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ" ประกอบมาตรา 27 ที่ว่า"สิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดโดยปริยาย ถือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลรวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง"
ตุลาการฯ ระบุว่า เมื่อพิจารณาโดยตลอดแล้วเห็นว่าคดีนี้ผู้ร้องใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรค 2 ด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าผู้ถูกร้องได้กระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้
*วินิจฉัยประเด็นแรก ขั้นตอนและกระบวนการการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ
สำหรับการวินิจฉัยในประเด็นที่ 1 กระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ มีลักษณะที่เป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศด้วยวิธีการที่ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ศาลเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฯ ที่ใช้ระหว่างพิจารณาประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นฉบับเดียวกับที่มีการยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมหลักการซึ่งผู้ร้องอ้างว่าไม่ตรงกับที่ได้เสนอให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการโดยมีข้อแตกต่างกันหลายประการ
บันทึกหลักการและเหตุผลร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่แก้ไข และบันทึกวิเคราะห์สาระสำคัญของร่างที่แก้ไขไม่ปรากฎว่ามีการลงเลขหน้ากำกับไว้ อีกทั้งไม่มีการเขียนข้อความใดๆ ด้วยลายมือ และเมื่อตรวจสอบปรากฎว่าอักษรที่ใช้ตั้งแต่หน้าที่ 1-33 มีความแตกต่างกันกับตัวอักษรที่ใช้ในบันทึกหลักการและเหตุผลตัวร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขและบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไข เมื่อนำเอกสารประกอบคำร้องของผู้ร้องที่ 1 และผู้ร้องที่ 2 ที่อ้างว่าได้รับแจกในการประชุมรัฐสภาทั้ง 2 ฉบับมีข้อความและเลขหน้าตรงกัน และมีการเติมข้อความต่อท้ายชื่อร่างรัฐธรรมนูญในบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญในร่างที่แก้ไขด้วยลายมือ และใส่เลขหน้าเรียงลำดับทุกหน้าตั้งแต่หนังสือถึงประธานรัฐสภา เพื่อขอเสนอร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไข รายชื่อส.ส.ที่เข้าชื่อเสนอญัตติ รายชื่อสมาชิกรัฐสภาผู้เข้าชื่อเสนอญัตติ บันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไข ตัวร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไข และบันทึกวิเคราะห์สรุปสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ รวม 41 หน้า สำหรับอักษรที่ใช้พิมพ์ก็ใช้ตัวอักษรแบบเดียวกันตั้งแต่หน้าแรกถึงหน้าสุดท้าย
นอกจากนี้เมื่อนำเอกสารญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับมาตรา 190 ที่นายประสิทธิ์ โพธิสุธน และพวกเป็นผู้เสนอตามที่เลขาธิการสภาฯ ได้นำส่งศาลมาประกอบการพิจารณาตรวจสอบ ปรากฎว่ามีการใส่เลขหน้าเรียงลำดับด้วยลายมือตั้งแต่หน้าหนังสือถึงประธานรัฐสภา, รายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เข้าชื่อเสนอญัตติ รายชื่อสมาชิกรัฐสภาผู้ร่วมเสนอ บันทึกหลักการและเหตุผล ตัวร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข จนถึงหน้าสุดท้าย ซึ่งเป็นบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างที่แก้ไข
อีกทั้งมีการเติมข้อความในชื่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยเพิ่มคำว่า “แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ พ.ศ.ในหน้าบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญที่แก้ไข ส่วนตัวอักษรที่ใช้ในการพิมพ์ก็เป็นตัวอักษรลักษณะเดียวกันตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย ลักษณะการใส่เลขหน้าตั้งแต่หน้าแรกถึงหน้าสุดท้าย การแก้ไขที่ร่างแก้ไข การใช้ตัวอักษรที่พิมพ์ตั้งแต่หน้าแรกถึงหน้าสุดท้ายเหมือนกับเอกสารที่ผู้ร้องอ้างว่าได้รับแจกจากการประชุมรัฐสภา
จากข้อเท็จจริงหลักฐานดังกล่าวข้างต้นเชื่อได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมฯ ที่เสนอให้สภาฯ พิจารณาในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ มิใช่ร่างเดิมที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร ยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 20 มี.ค.56 และได้ส่งสำเนาให้สมาชิกรัฐสภาประกอบการประชุม แต่เป็นร่างที่จัดพิมพ์ใหม่ซึ่งมีข้อความแตกต่างจากร่างเดิมหลายประการ ถึงแม้นายสุวิจักษณ์ นาควัชระชัย จะเบิกความว่าก่อนที่บรรจุวาระ หากจำเป็นต้องแก้ไขก็ยังสามารถแก้ไขได้ เพราะนอกจากเป็นการแก้ไขในข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ เช่นพิมพ์ผิด มิใช่เป็นการแก้ไขซึ่งขัดกับหลักการเดิม หากเป็นการแก้ไขที่ขัดหลักการเดิมก็ชอบที่จะมีผู้ร่วมลงชื่อเสนอญัตติตามที่บัญญัติไว้
จากการตรวจสอบของร่างที่มีการแก้ไข ปรากฎว่ามีการเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงหลักการที่สำคัญจากร่างเดิมหลายประการคือ การเพิ่มเติมหลักการโดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 116 วรรค 2 และวรรค 1 ของมาตรา 141 ด้วย ประการสำคัญ การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 116 จะมีผลให้บุคคลผู้เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกภาพสิ้นสุดลง สามารถสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้อีกโดยไม่ต้องรอให้พ้นเวลา 2 ปี และมีการดำเนินการที่มีเจตนาปกปิดข้อเท็จจริงโดยไม่แจ้งความจริงว่าได้จัดทำร่างใหม่ให้สมาชิกรัฐสภาทราบทุกคน
เมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าการพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภามิได้นำเอาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาส.ว.ฉบับที่นายอุดมเดชและคณะ เสนอต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 20 มี.ค.56 มาใช้ในการพิจารณาในวาระที่ 1 ในวาระรับหลักการ แต่ได้นำร่างที่จัดทำขึ้นใหม่ ซึ่งมีหลักการแตกต่างจากร่างเดิมที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร เสนอหลายประการ โดยไม่ได้ปรากฏว่ามีสมาชิกรัฐสภาร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่จัดทำเพิ่มเติมขึ้นใหม่แต่อย่างใด มีผลเท่ากับว่าการดำเนินการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่รัฐสภารับหลักการตามคำร้องนี้ เป็นไปโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วงเล็บ 1 วรรค 1
ส่วนวิธีการในการแสดงตนและลงมติในการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ เมื่อพิจารณาหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภาแบบมีผู้แทนแล้วจะเห็นว่าสมาชิกรัฐสภานับว่าเป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อระบบนี้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากบุคคลเหล่านี้มีฐานะเป็นผู้แทนของปวงชนที่ได้รับการเลือกตั้งโดยประชาชนหรือได้รับการสรรหาให้เข้าไปใช้อำนาจนิติบัญญัติในรัฐสภาแทนประชาชน
ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 122 ได้บัญญัติในเรื่องนี้ว่า "สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย โดยไม่อยู่ในอาณัตแห่งความมอบหมายหรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์" อีกทั้งต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรค 2 ที่ว่า"การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม"
ส่วนการใช้อำนาจของสมาชิกรัฐสภาในฐานะผู้แทนชาวไทยที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงนั้น ได้มีมาตรา 121 วรรค 3 กำหนดหลักการสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการตรากฎหมายว่า "สมาชิกรัฐสภาคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนน เว้นแต่ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด" ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าในการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภานั้น การแสดงตัวในการออกเสียงลงคะแนนย่อมถือเป็นเรื่องเฉพาะตัวของสมาชิกแต่ละคนที่จะต้องมาแสดงตนในการพิจารณาญัตติต่างๆ แต่ละครั้งด้วยตนเอง และมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในแต่ละเรื่องได้เพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น
การกระทำใดที่มีผลให้การลงคะแนนผิดไปจากความเป็นจริง คดีย่อมไม่ชอบด้วยบทบัญญัติและเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วเห็นว่าคดีนี้ผู้ร้องมีประจักษ์พยาน ผู้เห็นเหตุการณ์มาเบิกความพร้อมทั้งพยานหลักฐาน คือ แผ่นวิดีทัศน์ที่มีการบันทึกภาพเหตุการณ์การกระทำดังกล่าวถึง 3 ตอนที่นำมาแสดงให้เห็นว่าสมาชิกรัฐสภาบางคนใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ลงมติแทนผู้อื่นในระหว่างที่มีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ที่มาของ ส.ว.
ในการนี้น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะพยานบุคคลของผู้ร้องที่ 2 และที่ 4 ได้เบิกความพร้อมคลิปวิดีทัศน์ 3 ตอน และยืนยันว่าขณะนั้นได้มีบุคคลตามที่ปรากฎในคลิปกระทำการใช้บัตรแสดงตนอิเล็กทรอนิกส์ใส่เข้าไปในเครื่องออกเสียงลงคะแนน และกดปุ่มแสดงตน และลงมติคราวละหลายใบ ซึ่งขัดแย้งกับหลักการที่ถูกต้องในเรื่องนี้
ตามการเบิกความของนางอัจฉรา จูยืนยง ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานโสตทัศนูปกรณ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่ให้การไว้ว่า บัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในการลงคะแนนและแสดงตนของสมาชิกรัฐสภานั้นจะมีประจำตัวคนละ 1 ใบ และมีบัตรสำรองอีกคนละ 1 ใบซึ่งเก็บรักษาไว้ที่เจ้าหน้าที่กรณีสมาชิกรัฐสภาไม่ได้นำบัตรประจำตัวมา ประกอบกับสิ่งที่ปรากฎในวิดีทัศน์ขณะกระทำการดังกล่าวก็สอดคล้องกับเสียงที่ปรากฎในวันประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฯ ซึ่งหลักฐาน ทั้งการสืบสวนพยานบุคคล เลขาธิการสภาฯ ได้ดูแลฟังภาพและเสียงในวิดีทัศน์แล้วเบิกความว่าจำได้ว่าเป็นเสียงของรองประธานรัฐสภาซึ่งทำหน้าที่ประธานขณะนั้น ประกอบกับน.ส.รังสิมา ชี้ให้เห็นว่าผู้ถูกร้องที่ 162 ซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภาได้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนออกเสียงลงคะแนนคราวละหลายใบ หมุนเวียนใส่เข้าไปในเครื่องอ่านบัตรและกดปุ่มแสดงตนติดต่อกันหลายครั้ง
นอกจากนี้พยานบุคคลยังระบุว่าสามารถจดจำผู้ถูกร้องรายนี้ได้เป็นอย่างดี โดยไม่มีเหตุโกรธเคืองกันเป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด แม้ว่าจะได้ติดตามตรวจสอบการใช้บัตรแสดงตนและออกเสียงแทนกันมาโดยตลอด โดยเฉพาะพฤติกรรมของนายนริศร ทองธิราช และได้ใช้ให้คนของตนถ่ายภาพเพื่อให้ได้มาซึ่งพยานและหลักฐานประกอบการร้องเรียน เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายพยานที่นำสืบจากศาลก็เห็นภาพบุคคลปรากฎใบหน้าด้านข้าง สามารถยืนยันได้ว่าเป็นนายนริศรถือบัตรแสดงตนลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ไว้ในมือมากกว่า 2 บัตร และยังใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวใส่เข้าออกในช่อง พร้อมกดปุ่มบนเครื่องอ่านต่อเนื่องกันทุกบัตร เห็นได้ว่าการกระทำเช่นนี้มีลักษณะที่ผิดปกติวิสัยและการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา การใช้บัตรแสดงตนและออกเสียงลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์หลายใบ
จากการฟังพยานหลักฐานและการพิจารณาในชั้นพยานไต่สวนแล้วพบวาสมาชิกรัฐสภาหลายรายไม่ได้มาออกเสียงลงมติในที่ประชุมสภา แต่ได้มอบให้สมาชิกรัฐสภาบางรายใช้สิทธิออกเสียงแทน การดำเนินการดังกล่าวนอกจากเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกรัฐสภา ยังขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภาในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตที่สมาชิกรัฐสภาได้ปฏิญาณตนไว้ และขัดต่อหลักการออกเสียงที่ให้สมาชิกคนหนึ่งมีเพียงหนึ่งเสียง มีผลทำให้การออกเสียงลงคะแนนในการประชุมรัฐสภานั้นเป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ทุจริต ไม่เป็นไปตามเจตนารมย์ที่แท้จริงของปวงชนชาวไทย เนื่องจากมาจากกระบวนการลงคะแนนเสียงที่ไม่ชอบ ขัดต่อการบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
*วินิจฉัยประเด็นที่ 2 เนื้อหาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ตุลาการฯ พิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯว่ามีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองประเทศในวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยเห็นว่า เนื้อหาสาระสำคัญในการแกัไขคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภา โดยเปลี่ยนแปลงแก้ไขเนื้อหาสาระหลายประเด็นนั้น ศาลฯห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ได้แก้ไขในหลักการของสมาชิกวุฒิสภาหลายประการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนเช่นการใช้รัฐธรรมนูญปี 40
กล่าวคือ บัญญํติใหัมี ส.ว.สรรหาเข้ามาเป็นองค์ประกอบร่วมกับส.ว.เลือกตั้งในสัดส่วนที่เท่าเทียมกันเพื่อให้โอกาสแก่ประชาชนทุกภาคส่วน สาขาอาชีพ ได้มีส่วนร่วมในการทำหน้าที่วุฒิสภาได้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างรอบคอบ อีกทั้งกำหนดคุณสมบัติทิศทางให้เป็นอิสระจากการเมืองและ ส.ส. โดยห้ามบุพการี คู่สมรส บุตรของ ส.ส.หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้ามาเป็นส.ว. และตลอดเวลาห้ามเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง และตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี
รัฐธรรมนูญปี 50 กำหนดให้สภา ประกอบด้วย วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎรให้มีดุลยภาพระหว่างกันโดยกำหนดบทบาทของสมาชิกวุฒิสภาให้เป็นองค์กรตรวจทานการทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และถ่วงดุลอำนาจแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยให้อำนาจ ส.ว.ถอดถอน ส.ส.ได้ ในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานศีลธรรมอย่างร้ายแรง ทั้งนี้จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญมีเจตนารมย์ให้ ส.ว.มีอิสระจากส.ส.อย่างแท้จริง จึงบัญญัติห้ามความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันดังกล่าว เพราะหากยอมให้ส.ว.และส.ส.มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน ย่อมไม่อาจหวังได้ว่าจะมีการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นการแก้ไขให้กลับไปสู่จุดบกพร่องที่เคยปรากฎแล้วในอดีต และจุดบกพร่องที่ล่อแหลม เสี่ยงต่อการสูญสิ้นศรัทธาและความสามัคคีของปวงชนชาวไทย เป็นความพยายามนำประเทศชาติให้ถอยหลังเข้าคลอง ทำให้วุฒิสภากลับกลายไปเป็นสภาญาติพี่น้อง สภาครอบครัว หรือสภาผัวเมีย สูญเสียสถานะและศักยภาพแห่งการเป็นสติปัญญาให้สภาผู้แทนราษฎร กลายเป็นเพียงเสียงสะท้อนของมวลชนกลุ่มเดียวกัน นำพาไปสู่การผูกขาดอำนาจรัฐและการมีส่วนร่วมของปวงประชาหลายสาขา เป็นการเปิดช่องให้ผู้ร่วมกระทำการครั้งนี้เปิดโอกาสให้ใช้อำนาจในการปกครองที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ได้รับการเห็นชอบจากการออกเสียงลงประชามติของปวงชนชาวไทย
และการแก้ไขที่มาของ ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว มีที่มาเหมือน ส.ส.จึงย่อมเหมือนเป็นสภาเดียวกัน ไม่เกิดความแตกต่างและเป็นอิสระซึ่งกันและกันทั้ง 2 สภา เป็นการทำลายลักษณะและสาระสำคัญของ 2 สภาให้สูญสิ้นไป ย่อมทำให้หลักการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันของระบบ 2 สภาต้องสูญเสียไปอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถควบคุมอำนาจเหนือสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกันอันเป็นการกระทบกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเปิดทางให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการในครั้งนี้ได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิถีทางที่ไม่เป็นไปในอำนาจตามบทบัญญัตินี้
นอกจากนี้ เนื้อหาของรัฐธรรมนูญในการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 11 และ 11/1 ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญในเรื่องกระบวนการตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และส.ว.ที่จะบัญญัติขึ้นใหม่ โดยรวบรัดให้มีการประกาศใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว โดยไม่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 141 ที่ต้องส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเสียก่อน ซึ่งขัดกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถออกกฎหมายได้ตามอำเภอใจ โดยอาศัยเสียงข้างมาก ปราศจากการตรวจสอบ