"ผมว่าจุดหลักๆ ของประเด็นอยู่ที่ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการรับคดีนี้ไว้หรือไม่ ส่วนเหตุผลก็ค่อยมาว่ากันอีกทีในรายละเอียด เพราะไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ใครจะไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้ทุกเรื่อง ไม่ใช่นะ มันต้องเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ไปฟ้องได้ แม้แต่มาตรา 68 ที่เอามาใช้กัน บอกว่าบุคคลใดใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและทำให้เกิดการยึดอำนาจการปกครอง การใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ใช่กรณีที่ส.ส.หรือส.ว.ปฎิบัติหน้าที่ของเขา ในการเสนอกฏหมายมันเป็นคนละเรื่อง เพราะบทบัญญัติมาตรา 68 มีขึ้นตั้งแต่ ปี 2540 ตอนนั้นเรามีการกำหนดสิทธิและเสรีภาพใหม่ๆ มาก ก็กลัวทุกอย่าง เช่น เสรีในการแสดงออกก็มีคนบอกว่าถ้าคนใช้เสรีภาพในการแสดงออกแล้วบอกว่าเชิญชวนให้ประชาชนจับอาวุธขึ้นล้มล้างยึดอำนาจต่างๆ เราก็บอกว่ากรณีอย่างนี้ คุณจะมาอ้างเสรีภาพในการแสดงออกไม่ได้ จึงมีมาตรา 68 ตรงนี้ขึ้น แต่ไม่ใช่กรณีที่คนที่ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญตามกฏหมาย"นายพงศ์เทพ กล่าว
นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ไม่ได้บอกว่าไม่ให้ยอมรับคำวินิจฉัย แต่กรณีดังกล่าวต้องดูในแง่กฏหมาย แต่คำพิพากษาที่ออกมานักกฏหมายต่างก็ออกมาวิเคราะห์กันทั้งสิ้น และประเด็นหนึ่งคือกรณีศาลมีอำนาจในการวินิจฉัยหรือไม่ ซึ่งเป็นหัวใจอย่างหนึ่ง เพราะไม่อย่างนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดีอะไรไปเรื่อย แต่เรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญคงพยายามออกมาในลักษณะที่ไม่ให้รู้สึกว่าถูกกดดันจนเกินไป และออกมาบอกว่าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญไปไม่สามารถบังคับใช้ได้ แต่ก็ยังไม่มีผลกระทบอะไร ซึ่งยังรู้สึกว่าไม่รุนแรงมากและคงไม่ต้องออกมาตอบโต้ให้เกิดความขัดแย้งต่อการใช้รัฐธรรมนูญ
"หากเป็นบางประเทศ ถ้าคุณไปสุดๆ องค์กรอื่นก็จะไม่รับอำนาจของคุณ เช่นการวินิจฉัยเรื่องที่คุณไม่มีอำนาจ เขาก็จะบอกว่านั่นเป็นเรื่องของผม เขาก็ไม่รับอำนาจของคุณเหมือนกันจนเกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเองก็คงจะรู้ดี ว่าถ้าไปไกลกว่านี้ ก็อาจจะเกิดเหตุการณ์เหมือนประเทศอื่นๆ หรือวิกฤตรัฐธรรมนูญได้"นายพงศ์เทพ กล่าว
นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ในต่างประเทศหากมีการกระทำที่เกินเส้นออกมาอย่างเห็นได้ชัดก็จะเกิดเหตุการณ์วิกฤตรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ว่าองค์กรใดจะใช้อำนาจตามทำตามอำเภอใจได้ เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามกลไก ซึ่งเกิดในหลายประเทศ ยกตัวอย่างเช่นหากศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถามว่าตรงนี้จะมีใครยอมรับได้หรือไม่ก็ไม่มี
ส่วนการทูลเกล้าร่างกฏหมายนั้น นายพงศ์เทพ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีไม่มีทางทำอย่างอื่นได้ นอกจากต้องนำทูลเกล้าภายใน 20 วันตามที่กำหนดไว้ในขั้นตอนของกฎหมายเมื่อผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งรัฐบาลทำตามรัฐธรรมนูญ ทำให้นายกรัฐมนตรีไม่ทูลเกล้าก็ไม่ได้ และไม่ได้มีหน้าที่ตรวจสอบกฏหมาย เพราะไม่อย่างนั้นจะถือว่าไม่ทำตามรัฐธรรมนูญ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการลงพระปรมาภิไธย จึงยังไม่มีผลบังคับใช้
ด้านนายสมเกียรติ อ่อนวิมล โดยไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยในบางประเด็นซึ่งขัดหลักประชาธิปไตย โดยเฉพาะกรณีการไม่ให้ญาติพี่น้องสมัครเป็น ส.ว. ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยสากล แต่ยึดหลักการรัฐธรรมนูญเก่าที่มีที่มาแบบไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งตามหลักแล้วทุกคนมีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งทุกตำแหน่ง ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกเอง
“การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเฉพาะกรณีที่มา ส.ว.ถือว่าผิดหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ศาลฯมิได้เป็นเสาหลักค้ำจุนประชาธิปไตยในเรื่องนี้ หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย คือ "ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งย่อมมีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง" ความคิดนี้ไม่อยู่ในพรรคประชาธิปัตย์และ ส.ว.กลุ่มหนึ่ง เราจะต้องใช้เวลาอีกนานกว่าการศึกษาเรื่องประชาธิปไตยในประเทศไทยจะเข้าซึ้งฝังลึกในวิถีชีวิตของชาวไทย โดยเฉพาะในสถาบันหลักทางการเมืองการปกครอง การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเฉพาะกรณีที่มา ส.ว. ถือว่าผิดหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ศาลฯมิได้เป็นเสาหลักค้ำจุนประชาธิปไตยในเรื่องนี้"
นายเจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยสาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ระบุถึงคำวินิจฉัยของศาลเรื่องที่มา ส.ว.ไม่อยากให้มองเป็นประโยชน์กับฝ่ายใด ซึ่งความผิดพลาดในการทำงานก็เกิดขึ้นได้แต่ไม่รุนแรงถึงขั้นถอดถอนบุคคลหรือพิจารณายุบพรรค มองร่างกฏหมายดังกล่าวไม่ควรนำขึ้นทูลเกล้าฯ หรือหากนำขึ้นทูลเกล้าฯไปแล้วก็ควรต้องขอพระราชทานคืนกฏหมายดังกล่าวกลับมามองว่าไม่ถือเป็นการก้าวล่วงพระราชอำนาจ
นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงาน เครือข่ายภาคประชาชน 77 จังหวัด ระบุว่า ผลจากคำวินิจฉัยของศาลรฐัธธรรมนูญถือเป็นเรื่องที่ประธานรัฐสภาและรองประธานรัฐสภาต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก รวมทั้ง ส.ส.และ ส.ว. 312 คนที่ลงมติสนับสนุนร่างแก้ไขฯ ต้องลาออกด้วยเช่นกัน เพราะในคำวินิจฉัยของศาลระบุชัดว่าขั้นตอนและกระบวนการการพิจารณาของรัฐสภามีปัญหาร้ายแรง ทั้งการปกปิด สอดไส้เนื้อหา การแก้ไขฯ การแปรญัตติ และการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน ตอกย้ำความเละเทะและหลักปฏิบัติที่น่าเชื่อถือของเสียงข้างมาก
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีก็ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยเพราะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แปดเปื้อนมีมณฑิลขึ้นทูลเกล้าฯ โดยไม่รอคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำมิบังควรอย่างยิ่ง หากบุคคลที่กระทำความผิดอย่างเจตนาและจงใจ ยังไม่แสดงความรับผิดชอบทางการเมือง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และเสียงข้างน้อยก็ควรประกาศลาออก ไม่สังฆกรรมกับเสียงข้างมากที่ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ และทำผิดแล้วไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ
การลาออกของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และเสียงข้างน้อยในขณะนี้จะถือว่ามีความชอบธรรมสูงและสามารถอธิบายกับสังคมได้ว่าเสียงข้างมากในสภาฯ กำลังมีเจตนาทำลายหลักการปกครองและการถ่วงดุลทางอำนาจ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย