"หลายนโยบายของรัฐ ถูกวิพากษ์ วิจารณ์ ถูกตำหนิ โดยเฉพาะประชานิยมที่มีคอรัปชั่นมากขึ้น และบั่นทอนความเชื่อถือ ไว้ใจ รวมถึงก้าวย่างทางการเมืองที่ผิดพลาด นำไปสู่ความไม่พอใจของคนส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ เป็นสิ่งที่รัฐต้องเร่งกอบกู้ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศได้" นายสมคิด ระบุ
ขณะเดียวกัน ภาพของสมาชิกนิติบัญญัติที่ขัดแย้งกันรุนแรง จะสามารถออกกฎหมายดีๆ มาพัฒนาประเทศได้อย่างไร เพราะอีกด้านหนึ่งก็มีความขัดแย้งระหว่างนิติบัญญัติกับตุลากร ซึ่งเมื่อโลกรับรู้ก็จะตั้งคำถามว่าประเทศไทยจะยึดหลักการใด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ควรให้เกิดขึ้น
นายสมคิด กล่าวถึงการเดินขบวนเคลื่อนไหวของประชาชนว่า ถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ผู้นำมวลชนจะต้องตระหนักว่า ผู้ที่มาเดินขบวนนั้น ต่างมาด้วยความบริสุทธิ์ใจ ต้องดูแลไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งหรือสูญเสีย เพราะหากสูญเสีย ในขณะที่กลไกรัฐไม่ทำงาน นิติบัญญัติกับตุลากาขัดแย้งกัน ก็จะยิ่งมีความรุนแรงเกิดขึ้น และทำให้ประเทศล้มเหลวได้
"ผู้ที่เป็นศูนย์อำนาจต้องมีความอดทนอย่างยิ่ง จะต้องหาทางพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศอยู่รอดได้ คุณเป็นนายกฯ ไม่ว่าจะมาจากไหน พรรคไหน หรือใครส่งมา ต้องคำนึงถึงประเทศชาติเป็นที่ตั้ง คนก็จะรักท่านเอง" นายสมคิด กล่าว
สำหร้บสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ นายสมคิด เห็นว่า ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจเสื่อมถอย เพราะเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้ง 4 ตัวคือ การส่งออก การบริโภค การลงทุน และการใช้จ่ายภาครัฐชะลอลง และการที่หลายฝ่ายมองว่าเศรษฐกิจจะโต 3% กว่านั้นก็มีโอกาสที่จะโตไม่ถึง พร้อมมองว่า เศรษฐกิจไทยในอนาคตจะเติบโตช้า เพราะปัจจัยเสี่ยงจากภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนจากการเปลี่ยนแปลงมาตรการผ่อนปรนเชิงปริมาณ(QE) ของสหรัฐ