(เพิ่มเติม) "อภิสิทธิ์"ระบุ 5 ประเด็นอภิปรายนายกฯ บริหารราชการผิดพลาด-ไร้ภาวะผู้นำ-ส่อทุจริต

ข่าวการเมือง Tuesday November 26, 2013 16:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงเหตุผลการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลว่า การบริหารราชการแผ่นดินภายใต้การนำของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกิดความผิดพลาดและเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น และขณะนี้อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อประเทศชาติบ้านเมือง และเป็นที่ชัดเจนว่ามาถึงวันนี้ตัวเลขทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น มีการประเมินจากทางหอการค้าว่าตัวเลขทุจริตคอร์รัปชั่นทำให้สูญเสียถึง 2.35 แสนล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้รับผิดชอบและตอบคำถามเนื่องจากมีหลายเรื่องเกี่ยวข้องกับตัวนายกรัฐมนตรี หลายกรณีเอื้อพวกเอื้อพ้อง โดยประเด็นที่ฝ่ายค้านขอยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจมีทั้งสิ้น 5 ประเด็น คือ 1.การจัดซื้อจัดจ้างในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท 2.โครงการรับจำนำข้าว 3. การตรากฎหมาย ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท 4.หลีกเลี่ยงกลไกการตรวจสอบการทุจริต 5.การเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ฝ่ายค้านไม่มั่นใจว่าโครงการบริหารจัดการน้ำ และการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมีความโปร่งใสหรือไม่ และการออกกฎหมายบางฉบับก็ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ปฏิบัติขัดต่อกฎหมายของคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยไม่เปิดเผยราคากลางของโครงการที่รัฐบาลจะดำเนินการ รวมไปถึงหน่วยงานที่ใกล้ชิดก็ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย ป.ป.ช. ด้วย

ส่วนเรื่องของการออกกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น จะอ้างว่าไม่เกิดประโยชน์ต่อนายกรัฐมนตรีไม่ได้ เพราะหากผ่านความเห็นชอบจากสภาฯจะทำให้คดีที่ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ(คตส.)ไต่สวนจะได้รับการนิรโทษกรรมไปด้วย และทรัพย์สินของอดีตนายกทักษิณจะต้องได้รับคืน ทำให้นายกรัฐมนตรีและบุคคลในครอบครัวได้ประโยชน์ สะท้อนให้เห็นว่ามีประโยชน์ทับซ้อนเกี่ยวข้อง จึงไม่สามารถไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้

ด้านน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ชี้แจงข้อกล่าวหาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า เป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงเกินไป และไม่เป็นธรรมต่อตนเอง โดยเฉพาะในประเด็นที่ระบุว่าการบริหารงานส่อทุจริตทุกรูปแบบนั้น ยืนยันได้ว่าไม่ได้ทำผิดอย่างที่มีการกล่าวหา และรัฐบาลได้แก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องด้วยการกำหนดเป็นนโยบายหลัก และรณรงค์ปลูกจิตสำนึกต่อต้านทุจริตในหน่วยงานต่างๆ พร้อมทั้งตรวจสอบขั้นตอนการทำงานของข้าราชการอย่างละเอียด นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนร่วมตรวจสอบการทุจริตกับรัฐบาลด้วย

สำหรับข้อกล่าวหาที่ว่าตนเองไร้ภาวะผู้นำและก้าวก่ายสถาบันหลักของระบอบประชาธิปไตยนั้น นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง รัฐบาลเคารพหลักประชาธิปไตยและเคารพกติกามาโดยตลอด และพร้อมรับฟังความคิดเห็นต่าง รวมถึงดูแลประชาชนโดยหลักสันติ นำมาซึ่งความสงบของประเทศ

นายกรัฐมนตรี ยังชี้แจงกรณีที่นายอภิสิทธิ์อภิปรายถึงเรื่องการยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท ที่มองว่า มีการยึดทรัพย์ของนายกรัฐมนตรีรวมอยู่ด้วย และนำไปสู่ที่มาของการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อจะคืนทรัพย์สินให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและส่งผลให้นายกรัฐมนตรีได้รับประโยชน์ไปด้วยว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษาจนถึงที่สุดให้ทรัพย์สินเหล่านั้นตกเป็นของแผ่นดินไปแล้ว และยืนยันว่าเนื้อหาของกฎหมายนิรโทษกรรมไม่มีบทบัญญัติใดที่จะกำหนดให้คืนทรัพย์สินให้บุคคลใด และไม่ใช่กฎหมายการเงินอย่างแน่นอน รวมถึงสมาชิกรัฐสภาก็ไม่รับร่างดังกล่าวนี้ไปแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ