อนึ่ง ศาลอาญาได้พิจารณาพร้อมอนุมัติออกหมายจับนายสุเทพใน 2 ข้อหา ประกอบด้วย มั่วสุมเกิน 10 คน ตามมาตรา 215 และข้อหาบุกรุกสถานที่ราชการ ตามมาตรา 365 ส่วนข้อหาตามมาตรา 116(3) และมาตรา 117 จากเหตุการณ์ชุมนุมที่ ถ.ราชดำเนิน หรืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนั้น ศาลเห็นว่าพฤติการณ์ไม่เพียงพอจึงยกคำร้อง ส่วนกรณีของบุคคลอื่นๆ นั้นกำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน หากมีเพียงพอแล้วจะมายื่นศาลเพื่ออนุมัติหมายจับต่อไป
ด้านนายเจษฏา อนุจารี ทนายความของนายสุเทพ ได้เดินทางมายื่นคัดค้านคำร้องออกหมายจับ ซึ่งขั้นตอนขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลฯ หากศาลอนุญาตให้ไต่สวนพยานก็จะนำนายถาวร เสนเนียม และนายวิทยา แก้วภราดัย อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นไต่สวนเป็นพยาน
ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงในการชุมนุมยังไม่เข้าข่ายความผิดตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหา โดยผู้ชุมนุมไม่ได้บุกรุกเข้าไปในพื้นที่กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ แต่พี่น้องประชาชนที่อยู่ในกระทรวงการคลังเป็นผู้เปิดประตูต้อนรับผู้ชุมนุมให้เข้าไปเอง และผู้ชุมนุมก็ไม่ได้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ หรือทำลายข้าวของในสถานที่ราชการให้เกิดความเสียหาย
นอกจากนี้ เห็นว่าการกระทำของนายสุเทพ ยังไม่เข้าข่ายการขอออกหมายจับ ซึ่งการขอออกหมายจับของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็กระทำโดยผิดขั้นตอน เพราะการออกหมายจับนั้นจะต้องออกหมายเรียกก่อน 2 ครั้ง แต่หากเป็นลักษณะนี้ถามกลับไปที่รัฐบาลและตำรวจว่ากรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน มีการชุมนุมลักษณะทางการเมืองเช่นกัน และมีการมั่วสุมกันเกินกว่า 10 คนขึ้นไปเหตุใดตำรวจไม่ออกหมายจับแกนนำ นปช. ซึ่งถือเป็นการกระทำที่สองมาตรฐาน