รองปธ.วุฒิฯเชื่อปชป.ไม่สร้างเงื่อนไขห้ามยุบสภา-แนะ"ปู"เจรจา"สุเทพ"รับฟังตั้งสภาปชช.

ข่าวการเมือง Wednesday November 27, 2013 12:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ให้สัมภาษณ์ผ่านสถานีวิทยุเช้านี้ โดยเชื่อว่า ฝ่ายค้านจะพยายามให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจจบในวันนี้ เพื่อให้โหวตได้ในวันพรุ่งนี้ (28 พ.ย.) เพราะพรรคประชาธิปัตย์คงไม่เอาตัวเองไปผูกกับเงื่อนไขที่จะทำให้รัฐบาลไม่สามารถยุบสภาได้จนกว่าจะมีการลงมติอภิปราย เนื่องจากสภาฯ จะปิดสมัยประชุมในวันที่ 28 พ.ย.นี้แล้ว

ส่วนการกำหนดนัดหมายประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 28 พ.ย.นี้ ขณะนี้ทางประธานสภาฯ ได้แจ้งเลื่อนการประชุมออกไปแล้ว และกำลังแจ้งให้สมาชิกได้ทราบอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เผยแพร่หนังสือราชการด่วนที่สุด เรื่องงดการประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยเนื้อหาระบุว่า ตามที่ประธานรัฐสภาได้มีคำสั่งให้นัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 18 (สมัยสามัญทั่วไป) ในวันที่ 28 พ.ย. แล้วนั้น ประธานรัฐสภาได้มีคำสั่งให้งดการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในวันที่ 28 พ.ย. อย่างไรก็ตามหนังสืองดประชุมดังกล่าวไม่กล่าวถึงเหตุผลการงดประชุมร่วมกันของรัฐสภาแต่อย่างใด

โดยในเบื้องต้นวาระที่ถุกกำหนดไว้เป็นวาระที่ค้างเดิมอยู่ ไม่มีการเสนอวาระเพิ่มเติมเข้ามา ได้แก่ การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ การประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 28 พ.ย. มีระเบียบวาระที่น่าสนใจคือการพิจารณาเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว คือร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 68 และมาตรา 237) ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งค้างมาจากการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญทั่วไป) เมื่อวันอังคารที่ 20 สิงหาคม 2556

นายสุรชัย กล่าวว่า ขณะสถานการณ์ขณะนี้คงไม่เหมาะสมที่จะพิจารณาประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และระยะเวลาของสภาฯที่เหลือเพียง 1 วันในสมัยประชุมนี้ไม่น่าเพียงพอสำหรับการพิจารณาของสมาชิกที่ต้องทำอยางรอบคอบ

ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดความวุ่นวายในขณะนี้ นายสุรชัย เสนอแนะให้ทางรัฐบาลหาทางเจรจากับกลุ่มผู้ชุนุมเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม แม้ว่า เบื้องต้นความต้องการของผู้ชุมนุมทั้งการตั้งสภาประชาชน และรัฐบาลประชาชน อาจไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็เป็นเรื่องที่ควรจะรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของกลุ่มประชาชนที่มีความเห็นต่าง ซึ่งแนวทางตามข้อเรียกร้องก็เป็นแนวคิดหนึ่งในการปฎิรูปประเทศที่เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องการผลักดันอยู่แล้ว และเห็นว่านายกรัฐมนตรีควรเป็นผู้มาเจรจากับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำฯ ด้วยตนเอง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ