นายวิม กล่าวยอมรับว่า การยุบสภาและลาออกเป็นแนวทางในการยุติปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่านายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจะปฏิเสธการใช้แนวทางดังกล่าว เพียงแต่กลุ่มผู้ชุมนุมเป็นฝ่ายไม่ยอมรับ โดยนายสุเทพ แสดงความต้องการที่จะให้มีการจัดตั้งสภาประชาชน ซึ่งไม่ได้มีกฎหมายรองรับ
"กรณียุบสภานั้น รัฐบาลมีอำนาจที่จะทำได้ แต่ถ้ายุบสภาแล้วจะยุติการชุมนุมหรือไม่ ต้องมีการเจรจาโดยคนกลาง อยากให้หันหน้ามาเจรจา และขอให้ผ่านช่วงวันที่ 5 ธ.ค.ไปก่อน ค่อยมาวางเงื่อนไขทางการเมืองกันต่อไป...ไม่ปัดว่าจะไม่ยุบ แต่อยู่ที่การเจรจา อยู่ที่ว่ายุบสภาแล้ว ผู้ชุมนุมจะยุติหรือไม่"นายวิม กล่าว
พร้อมกันนี้ เชื่อว่ารัฐบาลจะไม่ยกระดับไปใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แทนการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เนื่องจากยังไม่ถึงเวลาที่จะสนธิกำลังกันระหว่างทหารและตำรวจ ปัจจุบันทางกองทัพได้จัดส่งทหาร 2,700 นายเข้ามาช่วยปกป้องสถานที่ราชการให้อยู่แล้ว ถือว่ามีกำลังเจ้าหน้าที่เพียงพอที่จะช่วยในการลดแรงปะทะจากการชุมนุมได้ อีกทั้งมองว่าหากมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อาจจะทำให้สถานการณ์รุนแรงยิ่งขึ้น