ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.แถลงว่ากรณีดังกล่าวได้มีการกำหนดกรอบแนวทางและกรอบระยะเวลาไต่สวนแล้ว เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา ประธานวุฒิสภา ได้มีหนังสือแจ้งว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และคณะ ได้ยื่นคำร้องให้วุฒิสภาถอดถอน ส.ส.และส.ว. รวม 383 คน ออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. จะนำเรื่องดังกล่าวรวมพิจารณากับเรื่องที่อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป
ส่วนการที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้น การเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ มีผลเพียงให้สมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลงตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (1) เท่านั้น หาได้กระทบต่ออำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป.ป.ช.แต่ประการใด คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังคงมีอำนาจหน้าที่ดำเนินไต่สวนข้อเท็จจริง และดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดได้ตามนัยมาตรา 43(1) และ(2) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 กรณีการถอดถอนออกจากตำแหน่ง
เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงเสร็จแล้วจะต้องทำรายงานเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณาต่อไป เนื่องจากหากผู้ใดถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งจะมีผลให้ผู้นั้นถูกตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งใดในทางการเมืองหรือการรับราชการเป็นเวลา 5 ปี มาตรา 272 มาตรา 273 และมาตรา 274 ของรัฐธรรมนูญ
และสำหรับการดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังคงมีอำนาจหน้าที่ ในการดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ต่อไป ตามบทบัญญัติมาตรา 275 ของรัฐธรรมนูญประกอบมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปรราบปรามการทุจริต พ.ศ.2554 ซึ่ง ขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้เตรียมการแจ้งคำสั่งไปยังผู้ถูกกล่าวหา และเชิญผู้ถูกกล่าวหามาให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม รวมถึงจะดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงต่อไป