ทั้งนี้ ภาคเอกชนเห็นว่าการแก้ไขปัญหาต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติเป็นสำคัญ มิใช่เพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดี ยังมีความเป็นห่วงว่าการยุบสภายังไม่ทำให้สถานการณ์บ้านเมืองเข้าสู่สภาวะปกติได้อย่างสมบูรณ์ เพราะความขัดแย้งครั้งนี้ หยั่งรากลึกและได้นำไปสู่ความแตกแยกของประเทศ ดังนั้น หากวิธีการใดๆ ที่จะนำมาซึ่งความรอมชอบและการแก้ไขปัญหาร่วมกันเป็นวิถีทางที่จะนำไปสู่ข้อยุติ โดยคนไทยทุกคนมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ไขความขัดแย้งนี้
นายอิสสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าไทย แถลงผลการหารือของภาคเอกชน 7 องค์กรถึงแนวทางการคลี่คลายวิกฤติการณ์การเมืองว่า จะมีการตั้งคณะทำงานจาก 7 องค์กรเพื่อวางแนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อปฏิรูปทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และ สังคม เบื้องต้นเห็นว่าควรรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกคน เพราะสถานการณ์ขณะนี้เป็นปัญหาของประเทศชาติ ไม่ใช่ปัญหาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
"หากไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งที่หยั่งรากลึกให้หมดไป แล้วยังจัดเลือกตั้งสถานการณ์วิกฤติรอบใหม่ก็จะกลับมาเกิดขึ้นอีก"นายอิสสระ กล่าว
ทั้งนี้ การทำงานจะทำงานร่วมกับภาคีอื่นๆ ที่ทำเรื่องนี้อยู่แล้ว เพื่อหาข้อสรุปรูปแบบการดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อยุติ เช่น อาจจะเปิดเวทีเสวนาเพื่อรับฟังความเห็น และประกาศให้สาธารณชนรับทราบ หากสาณารณชนยอมรับก็จะได้รับการสนับสนุนไปโดยปริยาย โดยการดำเนินการทำคู่ขนานกับกระบวนการทางกฎหมายในเรื่องของการจัดการเลือกตั้งใหม่ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกัน
สิ่งที่องค์กรภาคเอกชนกำลังทำไม่ได้กังวลเรื่องของเศรษฐกิจเพราะเลยจุดนั้นมาแลเว แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วมกันเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งทางสังคมและความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อให้ประเทศสงบสุข
ด้านนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า สัญญาณทางเศรษฐกิจขณะนี้ยังไม่ดีเท่าไหร่ อาจจะแค่กระเตื้องขึ้น ดูได้จากตลาดหุ้น แต่หากปัญหายืดเยื้อออกไปก็ไม่เป็นผลดีแน่นอน และส่งผลต่อการลงทุนที่จะทำให้เสียโอกาสเพราะนักลงทุนอาจจะไม่มั่นใจ ซึ่งเวลานี้ไม่ได้มองว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร แต่จะมองว่าจะทำอย่างไรที่จะสามารถแก้ปัญหาความแตกแยกในสังคม แต่คิดว่าถ้าสามารถแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นได้ เศรษฐกิจก็จะดีขึ้นมาเอง
ส่วนแนวทางของ 7 องค์กรเอกชนจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากแต่ละองค์กรมีความเป็นกลางเพียงพอ และต้องการขจัดวงจรการเมืองแบบซ้ำซาก
"สุดท้ายต้องมีทางออกให้ประเทศ เพราะตอนนี้ต่างฝ่ายสุดโต่งเกินไป หากแก้ไขไม่ได้แล้วปล่อยให้เลือกตั้ง อีก 2 ปีปัญหาก็จะกลับมาอีก"นายไพบูลย์ กล่าว