"ดังนั้น อาศัยอำนาจของประชาชนตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่บัญญัติว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ขอประกาศว่า มวลมหาประชาชน ข้าราชการ ทหาร และตำรวจผู้รักความเป็นธรรม มีความจำเป็นต้องพิทักษ์หลักการสำคัญในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงใช้สิทธิของมวลมหาประชาชนเรียกคืนอำนาจการปกครองแผ่นดินจากกลุ่มการเมืองคืนกลับสู่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดนั้น อันเป็นการประชาภิวัฒน์เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย และขจัดภยันตรายอันเกิดจากการทุจริตคอรัปชั่นให้หมดไป และดำเนินการทางการเมืองให้เป็นธรรมอย่างแท้จริงแก่ประชาชนทุกภาคส่วน" นายสุเทพ อ่านแถลงการณ์
ในแถลงการณ์ให้เหตุผลว่า ในเมื่อรัฐบาลที่มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน กลับทรยศประชาชนด้วยการใช้อำนาจที่ได้รับการไว้วางใจไปเพื่อความมั่นคงผาสุกของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ครอบครัว และบริวาร อันเป็นการทำลายสัญญาประชาคมอย่างชัดเจน ประชาชนจึงไม่จำเป็นต้องอยู่ใต้อำนาจอีกต่อไป
อนึ่ง มาตรา 3 ในรัฐธรรมนูญ กำหนดว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
เลขาธิการ กปปส. กล่าวว่า ด้วยปรากฎข้อเท็จจริงชัดแจ้งว่าการบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อันมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ มีการใช้อำนาจภายใต้การครอบงำและสั่งการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษในคดีอาญา ซึ่งหลบหนีคดีในต่างประเทศ และใช้อำนาจเหนือรัฐบาลและรัฐสภา ในเรื่องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ มีการใช้อำนาจโดยเสียงข้างมากของส.ส. และส.ว.อันเป็นการละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมายและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย บิดเบือนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองอันไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ดังนี้
ประการที่หนึ่ง การใช้อำนาจของรัฐสภาภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยและวุฒิสภา ตกอยู่ภายใต้การครอบงำทางการเงินของรัฐบาลหุ่นเชิด ร่วมกันใช้อำนาจแบบเผด็จการเสียงข้างมากแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อทำลายอำนาจของดุลยภาพและการตรวจสอบ จนศาลวินิจฉัยว่าเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทำลายกลไกการตรวจสอบ ทำการฉ้อฉลและทรยศต่อการไว้วางใจของประชาชนด้วยการกระทำที่ไม่ชอบด้วยคุณธรรมและจริยธรรม รวมทั้งมีการทั้งการลงมติแทนกันและตัดสิทธิ์เสียงข้างน้อย
ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำทั้งหมดมีผลในการทำลายหลักนิติธรรมและหลักประชาธิปไตย และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางตามรัฐธรรมนูญ รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี เร่งนำรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาขึ้นทูลเกล้าฯ ไม่นำพาต่อรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่เกรงว่าจะระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาท
นอกจากนั้น ประธานสภา และประธานวุฒิสภา และรมว.มหาดไทย ที่เป็นผู้รักษากฎหมายและสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง กลับแถลงชัดเจนว่าไม่ยอมรับคำวินิจฉัยดังกล่าว เป็นการกระทำย่ำยีต่อหลักนิติธรรมที้ร้ายแรงที่สุด และทำตัวเหนือรัฐธรรมนูญ
ประการที่สอง ส.ส.เสียงข้างมาก ที่ตอนแรกแถลงว่าจะนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ร่วมชุมนุมไม่รวมผู้สังการ แต่สุดท้ายกลับมีการล้างผิดให้ผู้กระทำผิดกฎหมายอาญาแผ่นดิน ที่เป็นความผิดต่อหน้าที่ราชการหรือคอรัปชั่น และความผิดมหันตโทษ และนิรโทษกรรมย้อนหลังไปถึงปี 2547 หวังให้ย้อนไปถึงกรณีกรือเซะ ตากใบ และนโยบายด้านยาเสพติด ซึ่งเป็นนโยบายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 2,873 คน โดยรวบรัดการลงมติร่างกฎหมายดังกล่าวในเวลา 04.30 น. แม้นายกรัฐมนตรีจะอ้างว่ารัฐบาลไม่ได้เป็นผู้เสนอร่ากฎหมายดังกล่าว แต่ในความเป็นจริงรัฐบาลคุมเสียงข้างมากในสภา จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้
ประการที่สาม รัฐบาลเพิกเฉยต่อความใช้ความรุนแรงของกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาล ทำให้นักศึกษาถึงแก่ความตาย รู้เห็นเป็นใจปิดล้อมนักศึกษา ไม่นึกถึงหน้าที่ในฐานะรัฐบาลและเลือกปฏิบัติจากเหตุจราจลปี 53 ให้มีสิทธิ์พิเศษเหนือกว่าผู้เสียหายทั่วไป ทั้งที่คนหลายคนเหล่านั้นเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำผิดร้ายแรงเพียงเพื่อหวังผลทางการเมือง เพื่อให้ได้อำนาจรัฐโดยมิชอบในหลักการประชาธิปไตย
ประการที่สี่ รัฐบาลและรัฐสภาที่นำโดยเสียงข้างมาก กระทำการทั้งทางตรงและทางอ้อมสร้างความแตกแยกในสังคมไทย ร้าวลึก ปลุกมั่น ยุยง หลอกลวงในหมู่ประชาชนให้กระด้างกระเดื่องต่อกฎหมายแผ่นดิน ขณะที่ผู้ชุมนุมที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลกลับถูกรัฐบาลนี้ใช้กฎหมายเล่นงานเต็มที่ อันเป็นการกระทำสองมาตรฐานอย่างเห็นได้ชัด
ประการที่ห้า รัฐบาลใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน เล่นพรรค เล่นพวก ข่มเหงรังแกข้าราชการ แต่งตั้งผู้ด้อยประสบการณ์ดำรงตำแหน่งในระดับสูงมาบริหารในหน่วยงานของรัฐเพื่อรับใช้ พ.ต.ท.ทักษิณ เจ้าของตัวจริงของรัฐบาล นำระบบราชการไปสู่ระบบอุปถัมภ์แบบโบราณ
ประการที่หก รัฐบาลทำการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างแพร่หลาย กว้างขวาง ใช้นโยบายประชาชนิยม ทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและประเทศ ระบบการเงินการคลังได้รับความเสียหาย และก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้ความน่าเชื่อถือและความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลงอย่างรุนแรง เช่น โครงการจำนำข้าวที่มีการทุจริตและมีความเสียหายหลายแสนล้านบาท โครงการบริหารจัดการน้ำ ต้องใช้เงินจำนวนหลายแสนล้าน และการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศที่มีการออกกฎหมายโดยฉ้อฉล มีแนวโน้มนำไปสู่การทุจริตและความล้มเหลวในการดำเนินโครงการ และสร้างหนี้โดยไม่มีเหตุผลอันควร ซึ่งการทุจริตดังกล่าว ผู้ได้รับประโยชน์คือ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว
"กปปส.ที่ประกอบด้วยมวลมหาประชาชน ข้าราชการ ตำรวจ ทหาร จึงไม่อาจยินยอมให้กลุ่มการเมืองเผด็จการเสียงข้างมากและทุนนิยมผูกขาดร่วมสมคบกันใช้ระบบเผด็จการรัฐสภา หักหลังต่อความไว้วางใจของประชาชน ทำลายดุลยภาพของการใช้อำนาจอธิปไตย และกระทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยไม่เป็นไปตามครรลอง หรือวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย"นายสุเทพ แถลง
ทั้งนี้ นายสุเทพ กล่าวในตอนท้ายว่า คณะกรรมการ กปปส.จะยึดมั่นในพันธะกรณีระหว่างประเทศ และจะรักษาความสัมพันธ์อันดีกับรัฐต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศต่อไปทุกประการ ขณะเดียวกันได้ขอความร่วมมือในการสร้างอนาคตที่เป็นธรรม ผาสุก สงบและสันติ เพื่อลูกหลานอันเป็นอนุชนรุ่นหลังสืบต่อไป