โดยระบุว่า ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 20 พ.ย.56 ความว่า "ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่มาของ ส.ว.มีสาระสำคัญขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐาน และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 อันเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกร้องได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ ด้วยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง ซึ่งภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยแล้วนั้น หัวหน้าพรรคเพื่อไทยในฐานะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอื่นๆ ซึ่งเป็นผู้แทนคณะรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสมาชิก ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งดังกล่าว ได้แถลงไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบกับการที่นายกรัฐมนตรีได้นำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ทั้งที่เป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่มีเนื้อหาและกระบวนการแก้ไขไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรคห้า ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ให้ต้องปฏิบัติตามเป็นเด็ดขาด
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.56 นายกรัฐมนตรีได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร โดยยังมิได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร อันมาตรา 108 บัญญัติให้เป็นพระราชอำนาจ นับเป็นการกระทำอันล่วงละเมิดพระราชอำนาจอย่างชัดแจ้งที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งยังเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญซ้ำแล้วซ้ำอีก ดังปรากฏตามแถลงการณ์ของสภาทนายความ การกระทำทั้งหลายดังกล่าวข้างต้น ถือได้ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคร่วมรัฐบาล ร่วมกันจงใจกระทำการละเมิดรัฐธรรมนูญโดยไม่สุจริต และตั้งต้นอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้รัฐบาลชุดนี้ตกเป็นโมฆะนับตั้งแต่วันที่ประกาศไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการกระทำที่เป็นการจงใจละเมิดรัฐธรรมนูญ โดยไม่สุจริตดังกล่าว มีความร้ายแรงถึงขนาดที่ไม่อาจจะให้รัฐบาลชุดนี้ใช้อำนาจในนามของประชาชนได้อีกต่อไป
ดังนั้น แม้นายกรัฐมนตรีจะได้มีการประกาศยุบสภาไปแล้วก็ตาม ก็ไม่ส่งผลให้รัฐบาลที่สิ้นสภาพไปแล้วรักษาการต่อไปได้ เมื่อกรณีเป็นไปตามความดังกล่าวข้างต้น จึงถือได้ว่าเวลานี้ ประเทศไทยตกอยู่ในสภาวะสูญญากาศ เนื่องจากไม่มีนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีอีกต่อไปแล้ว จึงชอบที่จะต้องมีการดำเนินการตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 โดยการจัดให้มีนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนทั้งประเทศยอมรับ เพื่อดำเนินการปฏิรูปประเทศไทยตามเจตจำนงของมวลมหาประชาชนต่อไป
ทั้งนี้ ขอให้มวลมหาประชาชนได้มั่นใจกับหลักการประชาภิวัฒน์ ด้วยวิธีสงบ สันติ อหิงสาต่อไป และศรัทธาเชื่อมั่นในความเป็นรัฏฐาธิปัตย์แห่งมวลมหาประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง และได้ทวงคืนกลับมาไว้ได้โดยสิ้นเชิง และพร้อมที่จะประชาภิวัฒน์ประเทศไทยโดยเร็วต่อไป