"ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกร้อง(นายสุเทพ)เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และเป็นการกระทำในนามประชาชนที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ ส่วนการยึดสถานที่ราชการก็ไม่เกิดขึ้นแล้วและสถานการณ์ตามคำร้องได้พัฒนาไปสู่การยุบสภาผู้แทนราษฎรและเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งแล้ว จึงยังไม่มีมูลกรณีที่เป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย" คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ
คดีนี้นายเรืองไกรระบุในคำร้องว่า นายสุเทพนำมวลชนเข้ายึดพื้นที่กระทรวงการคลัง มีการตัดน้ำตัดไฟ ข่มขืนใจเจ้าหน้าที่รัฐให้หยุดการปฏิบัติราชการเพื่อขับไล่ระบอบทักษิณและเสนอระบบการปกครองใหม่ ซึ่งต่อมาศาลอาญาได้ออกหมายจับนายสุเทพในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสาม และมาตรา 365 ประกอบมาตรา 362 โดยผู้ร้องเห็นว่าพฤติการณ์และการกระทำของนายสุเทพเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง
นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 3 ไม่รับคำร้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน กับนายคมสัน โพธิ์คง ที่ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่า พรรคเพื่อไทย, นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ และ ยุบพรรคเพื่อไทย กรณีแถลงไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปมที่มา ส.ว.เมื่อวันที่ 20 พ.ย.57 และนำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ โดยไม่รอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ