นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะโฆษก 7 องค์กรฯ กล่าวว่า ปัจจุบัน 7 องค์กรได้พูดคุยกับหลายๆกลุ่ม เช่น วานนี้ที่ได้มีการหารือกับ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และหลังจากนี้ยังหวังว่าจะมีกลุ่มอื่นๆที่จะเข้ามาเสนอและพูดถึงแนวทาง ซึ่งทางองค์กรจะนัดประชุมอีก 2-3 ครั้งเพื่อหาทางออก โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนก่อนหมดปีนี้
"ยืนยันว่าต้องการให้มีการปฏิรูปในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ซึ่งคิดว่าประเด็นสำคัญที่ต้องคุยกันก่อน คือ แนวทางที่เหมาะสมที่จะทำให้การดำเนินการเดินหน้าต่อไปได้ เนื่องจากยังมีอีกหลายเวทีที่จะต้องไปรับฟังความเห็นแล้วนำมารวบรวมข้อมูลของแต่ละฝ่ายแล้วประมวล โดยทั้งเวทีที่ กปปส.จะจัดในวันที่ 14 ธ.ค. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรัฐบาลจะจัดในวันที่ 15 ธ.ค. ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ก็ยินดีที่จะส่งตัวแทนเข้าไปร่วมรับฟังความคิดเห็น" โฆษก 7 องค์กรฯ กล่าว
หลังจากนี้การปฏิรูปฯ ควรจะมีการหาทางออกโดยตัดเทคนิคทางกฎหมายออกไปก่อน แต่อย่างไรก็ตาม ต้องอยู่ภายใต้กรอบของประชาธิปไตย ซึ่งหากได้ข้อสรุปแล้ว ทางองค์กรจะเสนอผ่านสื่อสารมวลชน ส่วนจะรับไปปฏิรูปหรือไม่ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กรจะตัดสินใจ
โดยที่ประชุมมองวาระการปฏิรูปประเทศไว้ 4 ข้อ คือ 1.การขจัดการคอร์รัปชั่น 2.การปฏิรูปเศรษฐกิจ 3.การขจัดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ปัจจุบันทางองค์กรเอกชนได้ทำ CSR อย่างต่อเนื่อง และ 4.กติกาการเลือกตั้ง
ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าขั้นตอนจะเป็นอย่างไร จะปฏิรูปให้เสร็จก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง หรือปฏิรูปเฉพาะบางส่วนที่สำคัญก่อนการเลือกตั้งและมีสัญญาประชาคมว่าพรรคการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาลจะผลักดันการปฏิรูปต่อ ซึ่งเรื่องนี้ต้องคุยกันให้ชัดเจน เพราะสถานการณ์ขณะนี้เป็นไปไม่ได้ที่จะนำทั้งสองฝ่ายเข้ามานั่งตกลงกัน ต้องรอให้บรรยากาศผ่อนคลายลงก่อน
ขณะที่นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการที่ได้หารือร่วมกันของ 7 องค์กรภาคเอกชน ทางตลาดทุนไทยอยากเห็นการปฏิรูปประเทศ ซึ่งมีความเห็นที่ตรงไปในทิศทางเดียวกันกับภาคเอกชนทั้งหมด นั่นคือจะมีการปฎิรูปก่อนการเลือกตั้ง หรือจะเลือกตั้งก่อนค่อยปฏิรูป แล้วจึงทำสัญญาประชาคมร่วมกัน ซึ่งประเด็นดังกล่าวยังต้องรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วนเพื่อตกผลึกร่วมกัน อย่างไรก็ตามการปฎิรูปประเทศจะไม่กระทบต่อตลาดทุนไทยมากนัก
"เรามีความเห็นที่ตรงไปในทิศทางเดียวกันกับคนอื่นในวันนี้ ที่จะต้องมีการปฎิรูป โดยมองว่าการปฎิรูปเป็นเรื่องที่ดีสำหรับทุกฝ่าย และเราก็อยากเห็นการปฎิรูปด้วย"นายจรัมพร กล่าว
ในส่วนของฝ่ายตลาดทุนไทย ก็ได้มีการเสนอการปฏิรูปวินัยการเงิน การคลัง ของการบริหารประเทศ