"การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปก่อน จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศได้สำเร็จ" นายสุเทพกล่าว
โดยชี้แจงว่า ในขั้นตอนแรกที่จะต้องผ่านไปให้ได้ก่อนคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะต้องลาออกจากรักษาการณ์นายกรัฐมนตรีก่อน ซึ่งคงไม่ได้กำหนดเส้นตายหรือวางกรอบเวลาไว้ว่าจะต้องลาออกภายในเมื่อใด คงต้องรอดูตามสถานการณ์ แต่หากหมดสิ้นหนทางนี้แล้วก็จะใช้พลังของประชาชนเข้ามาบังคับ ซึ่งวิธีนี้จะใช้ก็ต่อเมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีท่าทีที่ชัดเจนแล้วว่าถึงอย่างไรก็จะไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งรักษาการณ์โดยสมัครใจ
อย่างไรก็ดี นายสุเทพ ยังไม่มีการเปิดเผยชื่อบุคคลที่เหมาะสมที่ทาง กปปส.มองว่าสมควรจะเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป โดยกล่าวเพียงว่า การทำหน้าที่เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องเป็นหน้าที่ของนายนิคม ไวยรัชพาณิช ประธานวุฒิสภา แต่ขอภาวนาให้ประธานวุฒิสภาลาออกด้วย เพราะมองว่านายนิคม เป็นส่วนหนึ่งของระบอบทักษิณ ซึ่งหากนายนิคมลาออก ก็จะต้องเป็นหน้าที่ของรองประธานวุฒิสภาในการเสนอชื่อแทน
"ผมคงตอบไม่ได้ว่าจะเขาจะเสนอชื่อใคร แต่เชื่อว่าเมื่อมองเห็นสถานการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ ก็คงตัดสินใจปรึกษาหารือ หาคนดีขึ้นมาทำหน้าที่นี้ และเราจะไปคุยกับว่าที่นายกฯ คนนั้นว่า เราต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงการปฏิรูปในแนวทางของเราอย่างไร" นายสุเทพ กล่าว
อย่างไรก็ดี หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีไม่ยอมลาออกจากรักษาการณ์ ก็คงต้องใช้พลังประชาชนเข้ามาบังคับ และเมื่อทาง กปปส.สามารถควบคุมการบริหารประเทศได้แล้วก็จะมาหารือกันว่าจะมอบหมายให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี และเดินหน้าสภาประชาชนต่อไป
เลขาธิการ กปปส. มองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.57 ซึ่ง กปปส.จะรณรงค์ให้ประชาชนทั่วประเทศไม่ยอมรับการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.57 ด้วยจนกว่าจะมีการปฏิรูปประเทศได้สำเร็จ ซึ่งจากการสอบถามนักวิชาการและนักกฎหมาย เห็นว่าสามารถเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้แม้จะมีการออกเป็น พ.ร.ฏ.กำหนดวันเลือกตั้งไว้แล้ว โดยการออกเป็น พ.ร.ก.เพื่อแก้พ.ร.ฎ.เลื่อนกำหนดวันเลือกตั้งได้
ส่วนการชุมนุมของกลุ่มกปปส.ในขณะนี้ นายสุเทพ ยืนยันว่า ยังคงจะปักหลักการชุมนุมต่อไปจนกว่าจะมีการจัดตั้งสภาประชาชนเป็นที่เรียบร้อย
ทั้งนี้ หากมีกลุ่มคนเสื้อแดงออกมาเคลื่อนไหวไม่ยอมรับกับแนวทางของกลุ่ม กปปส.นั้น นายสุเทพ ได้ตั้งคำถามกลับไปว่า กลุ่มคนเสื้อแดงจะออกมาต่อสู้กับใคร จะออกมาต่อสู้จะกับพรรคประชาธิปัตย์ก็คงไม่ใช่ เพราะตนเองลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไปแล้ว แต่หากจะออกมาต่อสู้ก็คงเป็นการต่อสู้กับประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา กปปส.ได้เชิญชวนกลุ่มคนเสื้อแดงมาร่วมในการปฏิรูปด้วยการส่งตัวแทนเข้ามาร่วมได้ เพียงแต่จะต้องไม่ใช่นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายจตุพร พรหมพันธุ์เท่านั้น
สำหรับการจัดเวทีปฏิรูปของรัฐบาลในวันที่ 15 ธ.ค.ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์นั้น ทาง กปปส.จะส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม คือ นายสุริยะใส กตะศิลา, นายสาธิต วงษ์หนองเตย และนายเอกนัฐ พร้อมพันธุ์ เข้าร่วมหารือ
ขณะที่การจัดเวที "เสวนาสาธารณะหาทางออกประเทศ"ของทางกองทัพในวันที่ 14 ธ.ค.ที่กองบัญชาการกองทัพไทยนั้น ทางกลุ่ม กปปส.จะส่งตัวแทนเข้าร่วมประมาณ 20 คน โดยจะไปชี้แจงแนวทางการจัดตั้งสภาประชาชนให้กับผู้นำเหล่าทัพได้รับทราบ
ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา หนึ่งในคณะกรรมการ กปปส. กล่าวชี้แจงต่อว่า สถานการณ์การเมืองในขณะนี้ถือว่าเป็นสถานการณ์พิเศษไม่ใช่สถานการณ์โดยปกติ ซึ่งคงไม่สามารถยึดถือระเบียบกติกาในแบบเดิมได้ ดังนั้นการเคลื่อนไหวของ กปปส.จึงต้องการการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติวิธีและหลีกเลี่ยงสงครามการเมือง ซึ่งการหยิบยกวิธีการตามมาตรา 3 และมาตรา 7 ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นความมุ่งมั่นของ กปปส.ที่ต้องการจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ไม่มีการเสียเลือดเนื้อ หรือเสียเลือดเนื้อให้น้อยที่สุด
"เราเลี่ยงสงครามการเมือง เราไม่ต้องการเผชิญหน้ากับใคร ทหาร ตำรวจ พี่น้องเสื้อแดง หรือแม้แต่รัฐบาลที่เราไม่ไว้วางใจ ฉะนั้นมาตรา 3 มาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญที่เราพูดกัน เราเชื่อว่าจะเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านหรือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดอย่างสันติวิธี" นายสุริยะใส กล่าว
พร้อมย้ำว่า สาเหตุที่ กปปส.ชูรูปแบบสภาประชาชนหรือรัฐบาลเฉพาะกาลที่ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการณ์นั้น เพราะต้องการเปลี่ยนผ่านถ่ายโอนอำนาจมาสู่มือของประชาชนและสังคม ซึ่งไม่ใช่รัฐบาลในระบอบทักษิณ และนี่คือหลักการสำคัญ