โดยมีข้อเสนอ 3 แนวทาง คือ 1.เพื่อให้การเลือกตั้งสามารถนำไปสู่การปฏิรูปได้อย่างแท้จริง โดยมีส่วมร่วมของทุกฝ่ายที่จะเข้ามาเสริมงานของ กกต.ให้กระบวนการการเลือกตั้ง ตั้งแต่การหาเสียง มีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งทั้งหมด เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม
2.ประชาชนอยากเห็นพรรคการเมืองที่จะลงสนามการเลือกตั้งได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าหลังจากการเลือกตั้งจะต้องมีรัฐบาลเพื่อการปฏิรูป ซึ่งรัฐบาลเพื่อการปฏิรูปในส่วนนี้ต้องช่วยกันเรียกร้องให้พรรคการเมืองช่วยกันคิด และช่วยนำเสนอว่า รัฐบาลเพื่อการปฏิรูปจะมีเงื่อนไขใดบ้าง และจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไร สิ่งเหล่านี้จะเป็นข้อมูลสำคัญที่จะทำให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะลงคะแนนอย่างไรในวันเลือกตั้ง
และ 3.นอกจากการมีรัฐบาลเพื่อการปฏิรูปแล้ว น่าจะต้องมีองค์กรเพื่อการปฏิรูปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมไทยจะต้องช่วยกันคิด ว่าจะทำอย่างไรให้องค์กรดังกล่าวเป็นที่วางใจของประชาชนว่า ไม่มีผลประโยชน์ทางการเมืองกลุ่มใดโดยเฉพาะ และที่สำคัญจะต้องไม่ทำหน้าที่ขัดแย้งกับกลไกในระบอบประชาธิปไตยด้วย
"สิ่งเหล่านี้เป็นสาระที่ได้จากการพูดคุย ซึ่งไม่ใช่ความเห็นร่วมหรือมติที่จะต้องผูกมัดอะไร เป็นเพียงบรรยากาศของการประชุมที่มีการเสนอความคิดเห็นทางวิชาการดังกล่าวออกมา ซึ่งความเห็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจ โดยเราหวังว่าสังคมไทยจะให้ความสำคัญและเร่งพัฒนาความคิดเหล่านี้ให้มีความละเอียดมากยิ่งขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการเลือกตั้งนับจากนี้ไป และจะเป็นประโยชน์ของประเทศในระยะยาวด้วย" นายธงทอง กล่าว
ส่วนแนวทางที่จะทำให้ประชาชนเห็นตรงกับ 3 แนวทางนั้น นายธงทอง กล่าวว่า ต้องช่วยกันสื่อสารออกไปสู่สาธารณชน ประเทศไทยไม่สามารถผูกขาดได้ด้วยคนจำนวนใดจำนวนหนึ่ง องค์กรภาคธุรกิจเอง แม้จะเป็นผู้แทนของภาคธุรกิจ แต่มุ่งเพื่อประโยชน์บ้านเมืองเป็นสำคัญ ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องนำไปคิดต่อ จากนี้ไปกระทั่งถึงวันเลือกตั้ง หากนำไปคิดต่อก็จะได้ประโยชน์ พรรคการเมืองเองก็ต้องตอบคำถามเหล่านี้ด้วย
นายธงทอง กล่าวว่า ญํ.ไม่มีการนัดหมายว่าจะมีการพบหรือพูดคุยกันในกลุ่ม 20 คนที่มาประชุมกันในวันนี้อีกหรือไม่ แต่อาจจะมีวงเสวนาอื่นที่มีการพูดคุยได้ทำนองนี้ หากผู้เข้าร่วมในวันนี้มีความสนใจที่นำไปพัฒนาต่อยอดก็คุ้มค่าแล้ว
ส่วนกรณีที่ กปปส.ระบุว่า เวทีนี้เหมือนมีการตั้งธงไว้ โดยนำนักวิชาการที่มีความคิดคล้ายๆ กันมาร่วมกันนั้น นายธงทอง กล่าวว่า "ลองไปสัมภาษณ์ อ.เจษฎ์ โทณะวณิก ดู ซึ่งก็ไม่ได้เห็นด้วยทุกอย่าง ซึ่งข้อเท็จจริง เราก็ได้เชิญ กปปส.ทุกครั้ง และทุกครั้งก็ไม่ได้ใช้การส่งหนังสือไปทางไปรษณีย์ที่ไม่ได้ให้ความเคารพ เพราะได้ให้ผู้ตรวจราชการสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นบุรุษไปรษณีย์ไปเชิญ ซึ่งก็เป็นการแสดงความปรารถนาและแสดงความเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน"
ขณะที่นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ที่ประชุมมีความเห็นไปในทางเดียวกันทั้งภาควิชาการ และภาคเอกชนคือ 1.เราต้องเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง แต่ไม่ได้มีการกำหนดว่าต้องเป็นเวลาใด ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นว่าควรมีการเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกาในวันที่ 2 ก.พ.57 โดยมีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปรอบด้าน และปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น
2.การเลือกตั้งต้องเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ซึ่งหลังจากนี้ภาควิชาการ และภาคเอกชนที่ร่วมประชุมจะทำหน้าที่ขยายเครือข่ายร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ให้การเลือกตั้งสะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง และ 3.อยากให้พรรคการเมืองมีพันธสัญญาหรือทำสัตยาบันร่วมกัน ในการแก้วิกฤติการเมือง และการปฏิรูป
นอกจากนี้ที่ประชุมยังเสนอให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ปฎิบัติภารกิจในแง่ของการปฎิรูปประเทศ ให้บรรลุผลแล้วคืนอำนาจให้ประชาชนและควรมีองค์กรที่ทำหน้าที่ปฎิรูปประเทศ ให้มีความยึดโยงกับประชาชน ไม่ทำหน้าที่ทับซ้อนกับรัฐสภา ไม่ฝักใฝ่การเมือง ส่วนรายละเอียดตอนนี้ยังมีความเห็นที่แตกต่าง จึงอยากให้พรรคการเมืองต่างๆที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้เสนอ รายละเอียดขององค์กร
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การเสนอความเห็นของนักวิชาการมีความเป็นกลางทางการเมืองเต็มที่ไม่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้เปรียบหรือเสียเปรียบกัน โดยเราได้นำข้อเสนอของ กปปส.มาพิจารณาด้วยว่าข้อเสนอไหนจะสามารถรับมาดำเนินการได้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ส่วนในเรื่องกรอบการปฎิรูปนั้น ในที่ประชุมก็ได้มีการแสดงความเห็นว่าอาจใช้เวลา 1-2 ปี หรือมากกว่านั้น เพราะไม่มีประเทศไหนในโลกที่จะปฎิรูปประเทศได้อย่างอย่างรวดเร็ว บางประเทศใช้เวลากว่า 10 ปี
กรณีที่ กปปส.ต้องการให้ปฏิรูปก่อนมีการเลือกตั้งนั้น นายอนุสรณ์ กล่าวว่า สำหรับจุดยืนส่วนตัวเห็นว่าเราไม่สามารถเว้นวรคประชาธิปไตย หรือหยุดการเลือกตั้งเพื่อการปฏิรูปประเทศ แต่เราต้องส่งเสริมประชาธิปไตย พัฒนาการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมเพื่อการปฏิรูปประเทศ เราไม่สามารถหยุดประชาธิปไตยเพื่อปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่เราต้องสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง และมีคุณภาพเพื่อแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น
ด้านนายเกษม เพ็ญภินันท์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายกลุ่มพยายามจัดเวทีเสวนาหาทางออกให้กับประเทศเพิ่มมากขึ้น เพื่อรณรงค์ให้บ้านเมืองกลับสู่ความสงบเรียบร้อย โดยมีจุดยืนที่จะยึดโยงประชาธิปไตย ต่อต้านทุจริต ยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม โดยข้อเสนอเหล่านี้จะเป็นรูปธรรมก็ต่อเมื่อพรรคการเมืองทำพันธสัญญาหรือสัตยาบรรณ โดยเริ่มต้นจากการเลือกตั้งนำไปสู่การปฎิรูป ซึ่งเวทีเสวนาในวันนี้เป็นเพียงข้อเสนอกว้างๆสนับสนุนให้มีการเลือกตั้ง แต่หลังจากนั้นเป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่จะต้องทำหน้าที่ในการปฎิรูป
นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฏหมายอิสระ กล่าวว่า ข้อเสนอของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.เป็นข้อเสนอที่ทุกคนเห็นตรงกัน แต่สิ่งที่เห็นต่างคือวิธีการที่จะนำไปสู่จุดนั้นโดยเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้อย่างไร ซึ่งนายสุเทพไม่อยากให้มีการเลือกตั้งเพราะกลัวว่าเลือกตั้งแล้วจะไม่ได้ปฏิรูป ตนเองจึงเสนอสูตรที่เป็นกลางซึ่งไม่ใช่ข้อสรุปแต่หลายฝ่ายจะนำกลับไปพิจารณา คือให้พรรคการเมืองมีการลงสัตยาบันกันเลยว่าให้เว้นการประชานิยมไป 1-2 ปี และเลือกตั้งได้รัฐบาลมาแล้วให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศภายใน 1-2 ปี ให้มีสภาประชาชน มีสภาปฏิรูป มี สสร.จากนั้นให้ยุบสภา ก็จะเป็นการตอบโจทยว่าไม่ใช่เข้ามาเพื่อครองอำนาจ หรือเพื่อใช้นโยบายประชานิยม
นายวีรพัฒน์ กล่าวว่า เวลานี้เป็นเวลาที่พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) และพรรคเพื่อไทย(พท.) ต้องแสดงสปิริตทางการเมือง ในส่วนของพรรคเพื่อไทยอะไรที่เคยทำผิดพลาดไว้จนประชาชนไม่พอใจก็ออกมายอมรับและแก้ไข พร้อมบอกว่าสิ่งที่เคยทำผิดพลาดไว้ขอชะงักไว้ก่อนไม่ทำต่อ โครงการหลายโครงการส่อทุจริตหยุดไว้ก่อน แล้วมาวางกลไกปฏิรูปและยุบสภา ถ้าประชาชนเชื่อใจก็จะได้กลับมา เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ มีคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ก็สมควรใช้โอกาสนี้เดินเกมกลับเข้ามาสู่การเลือกตั้งเพื่อสู้และกู้วิกฤติ และไปสู้กับพรรคเพื่อไทย จากนั้นก็ยุบสภาเช่นเดียวกัน และทุกฝ่ายก็จะกลับมาสู้ศึกเลือกตั้งก่อนปี 2560
ส่วนการแก้ไขกฎหมายให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์นั้น นายวีรพัฒน์ กล่าวว่า ตอนนี้ไม่มีรัฐสภาที่จะสามารถแก้กฏหมายได้ แต่เรามี กกต.ที่มีอำนาจตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ในการที่จะออกกฏระเบียบต่างๆ ที่จะทำให้การเลือกตั้งใสสะอาดบริสุทธ์มากขึ้น ซึ่งส่วนนี้ไม่ใช่กฏระเบียบธรรมดาเพราะหากออกไปแล้วนักการเมืองไม่เชื่อฟังอาจถึงขั้นยุบพรรคได้ ถือว่าตรงนี้ กกต.มีอำนาจ
"ขอให้คุณสุเทพเข้าใจว่าการปฏิรูปไม่ต้องรอการเลือกตั้ง ปฏิรูปได้เลยในวันนี้ก็คือการทำให้กฏ กติกา การเลือกตั้งที่ กกต.กำหนดมีความหนาแน่น เข้มงวดมากกว่าเดิม และเปิดช่องให้ กปปส., นปช. ภาคประชาชนทั้งหลายร่วมกันเข้ามาเป็นอาสาสมัครช่วยดูแลการเลือกตั้ง สามารถทำได้ตามมาตรา 25 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน และ กกต.ก็ไปรับรองสถานะ ทำกันไปเลยทั่วประเทศ ทำให้มวลมหาประชาชนเป็นมวลมหาอาสาสมัครประชาชน" นายวีรพัฒน์ กล่าว