เลือกตั้ง'57: 7 องค์กรเอกชนห่วงสถานการณ์ตึงเครียดใกล้เลือกตั้ง ชูปฏิรูปคู่ขนานเลือกตั้ง

ข่าวการเมือง Wednesday December 18, 2013 13:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะโฆษกคณะทำงาน 7 องค์กรภาคเอกชน เห็นว่า สถานการณ์ของประเทศในขณะนี้ สังคมกำลังมุ่งไปที่การเลือกตั้งจนหลงลืมเรื่องการปฏิรูปประเทศ ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนคำนึงว่าการปฏิรูปประเทศมีความจำเป็นจะต้องทำควบคู่ไปด้วยกันกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นด้วย
"การเลือกตั้งวันเดียวก็จบ แต่การปฏิรูปยังจะต้องทำต่อเนื่อง และต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ ไม่ใช่ไปทำหลังเลือกตั้ง" นายวิชัย กล่าว

พร้อมระบุว่า นอกเหนือจากเรื่องนี้แล้ว สิ่งที่ต้องดำเนินการคือการสร้างความชัดเจนเรื่องการกำหนดประเด็นการปฏิรูปประเทศ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยกันอย่างชัดเจนว่าจะมีการปฎิรูปในเรื่องใดบ้าง ขณะเดียวกันจะต้องหาคนที่จะเป็นเจ้าภาพในการหารือเรื่องการปฏิรูปประเทศ เพราะคงจะไม่เหมาะสมหากจะให้แกนนำของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เป็นคู่ขัดแย้งกันนั้นขึ้นมาเป็นเจ้าภาพได้

ส่วนแนวทางของ 7 องค์กรภาคเอกชนเห็นว่าขณะนี้มีข้อมูลที่เพียงพอแล้ว หลังจากได้มีโอกาสพบปะหารือกับ กปปส., สมาคมวิชาชีพ, รัฐบาล และฝ่ายนปช. ซึ่งเชื่อว่ามีข้อมูลเพียงพอที่จะสรุปแนวทางในการดำเนินการตามความเห็นของ 7 องค์กรภาคเอกชนว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร

"ตอนนี้เราเป็นห่วงว่าสถานการณ์อาจจะตึงเครียดอีกครั้ง เมื่อใกล้วันเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นก็พยายามจะดำเนินการไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น" นายวิชัย กล่าว

ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) กล่าวว่า แนวทางการปฏิรูปของ กปปส.ไม่มีหลักประกันว่ารัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศในช่วงการปฏิรูป 1-2 ปีนั้นจะทำให้เกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริง อีกทั้งมีคำถามว่า กปปส.เป็นตัวแทนที่ชอบธรรมแล้วหรือไม่ ซึ่งอาจจะมีเรื่องผลประโยชน์แอบแฝง หรืออาจพูดได้ว่าเป็นการรัฐประหาร เพราะสิ่งที่เป็นข้อเสนอของ กปปส.นั้นไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

สำหรับแนวทางที่ นปช.เห็นว่าควรจะดำเนินการ คือ ทุกฝ่ายต้องจับมือกันเพื่อดำเนินการปฏิรูปประเทศควบคู่ไปกับการเลือกตั้ง โดยให้ฝ่ายการเมืองทำสัตยาบรรณร่วมกันให้ชัดเจนว่า ใครก็ตามที่ได้รับการเลือกตั้งให้เข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วจะต้องดำเนินการปฏิรูปต่อ

"เราคงต้องทำเรื่องปฏิรูปคู่ขนานกับการเลือกตั้งไป โดยไม่ใช่เป็นการทำลายเส้นทางหลัก" นายณัฐวุฒิ กล่าว

พร้อมระบุว่า หากเรามีหลักการชัดเจนว่าต้องการประชาธิปไตยก็เป็นสิ่งที่แน่ชัดว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเราก็ต้องพยายามรักษาประชาธิปไตย แต่การชุมนุมที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นเหมือนการล้มล้างประชาธิปไตยและล้มล้างการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้ทั่วโลกต่างสงสัยว่าเป็นการชุมนุมที่เรียกร้องประชาธิปไตยจริงหรือไม่ และหากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.สามารถหยุดยั้งการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.57 ได้ก็ถือเป็นการทำรัฐประหาร ซึ่งจุดนั้นเชื่อว่าจะมีประชาชนออกมาทวงอำนาจคืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ