ทั้งนี้ นายกฯได้กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์บอยคอตการเลือกตั้งว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ลงเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มุ่งมั่นในเรื่องของการรักษาระบอบประชาธิปไตย รักษาระบบรัฐสภา ซึ่งการเลือกตั้ง พวกเราทุกคนในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องรักษาระบอบประชาธิปไตย แล้วจุดมั่งหมายของพรรคประชาธิปัตย์หากไม่ลงเลือกตั้งแล้วจะเกิดเป็นรูปธรรม ได้อย่างไร ภายใต้บทบัญญัตินี้ เราก็ต้องติดตามกันต่อไป เราหวังว่า การที่เรารักษากติกาเป็นวิธีที่จะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ และเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเลยทีเดียว
นายกฯ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียใจสำหรับประเทศ เพราะหลาย ๆ ประเทศแม้กระทั่งประเทศในอาเซียนเรียกร้องให้มีระบอบประชาธิปไตย แต่ขณะเดียวกันประเทศของเรากลับบอกว่า ไม่อยากให้เดินหน้า นี่คือสิ่งที่เราเป็นห่วง เราจะบอกว่าไม่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย แล้วแต่ยึดมั่นอะไร นี่คือสิ่งที่เป็นคำถามต่อประเทศในอนาคตว่า แล้วเราจะทำให้ประเทศของเราได้รับการยอมรับได้อย่างไร ถ้าไม่ยอมรับรัฐบาลนี้ก็กรุณายอมรับระบบที่เป็นระบบ และใช้กติกาการเลือกตั้ง เพราะเราได้คืนอำนาจให้กับประชาชน และผู้ที่ตัดสินใจอนาคตของประเทศก็คือประชาชน
นายกฯ กล่าวว่า อันนี้คือสิ่งที่ขอร้อง เพราะถ้าเรายังเป็นอยู่อย่างนี้ สุดท้ายประเทศของเราก็จะเจ็บปวด พวกเราทุกคนก็จะเจ็บปวด เราจะมาต่อสู้เพื่อชัยชนะมันไม่ใช่ แต่จะทำอย่างไรให้ประเทศของเราเดินได้ ตนในส่วนของรัฐบาลก็ทำทุกอย่างที่ร้องขอ ทั้งเรื่องของการปฏิรูป การยุบสภาคืนอำนาจให้กับประชาชน แต่ก็ต้องขอความกรุณาว่า การที่เราอยู่ในตำแหน่งนี้ ต้องขอความกรุณาว่าไม่ใช่เราดื้อรั้นยึดติดกับตำแหน่ง แต่เป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องรับผิดชอบ เป็นหน้าที่ที่เราทำให้มีการเลือกตั้ง ถ้าเราไม่เอากติกา ไม่เดิน เราก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แล้วจะให้รัฐบาลทำอย่างไร รัฐบาลในฐานะที่รักษาประชาธิปไตย บอกว่าให้วางแล้วคืนอำนาจให้กับประชาชน และจะทำอย่างไร เพราะวันนี้วิธีคืนอำนาจให้กับประชาชนคือการยุบสภา ถ้าหากคืนให้กับประชาชนแล้วไม่มีกติกา เราก็เกรงว่าความวุ่นวายนี้จะเกิดขึ้นเป็นความเจ็บปวดของประเทศ ทำให้เราไม่ได้ก้าวไปข้างหน้า กับทำให้หลาย ๆ ประเทศมองเรา ตรงนี้คือสิ่งที่อยู่ในใจต่อ
นายกฯ กล่าวว่า เราได้รับฟังหลายภาคส่วนรวมทั้งจากพรรคการเมือง ซึ่งมีแนวโน้มการตอบรับที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม ต้องได้รับการตอบรับจากทุกคนโดยเฉพาะจากกลุ่มผู้ชุมนุม ถ้าไม่รับเวทีปฏิรูปซึ่งไม่ใช่เวทีปฏิรูปของรัฐบาล แต่รัฐเป็นผู้เริ่มต้นเท่านั้น เราอยากเห็นเวทีนี้เป็นเวทีกลางของประชาชนทั้งประเทศไม่ใช่ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นเวทีที่ทุกคนจะมาเปิดใจกันมาแก้ปัญหา อะไรที่ไม่ชอบ ไม่อยากเห็นในอดีตก็มาแก้ไขด้วยการปฏิรูป แต่ถ้าอยู่ ๆ การปฏิรูปเกิดขึ้นโดยไม่มีกติกา แล้วจะเอาบรรทัดฐานนี้ไปบอกคนอื่นได้อย่างไรว่าเวทีปฏิรูปนี้มีกฎหมายมีการรองรับแล้ว นี่คือสิ่งที่เราอยากจะขอว่ารัฐบาลอยากจะเปิดเวทีปฏิรูปนี้เป็นกลไกในการเริ่มต้นให้ แต่เราหวังว่าเราจะได้รับฟังจากทุกกลุ่ม ที่ตนได้แถลงการณ์ไปเมื่อวันเสาร์ที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมานั้นเป็นเพียงแค่แนวคิดเริ่มต้น เราคงอยากจะฟังแนวคิดนี้ไม่ใช่ว่าเป็นแนวคิดที่จะปฏิบัติทั้งหมด อะไรที่ทุกคนเห็นชอบเราก็จำนำมาปฏิบัติ โดยหน้าที่รัฐบาลจะพยายามร่วมมือทุก ๆ ประเด็น
เมื่อถามว่าถึงเวลาหรือยังที่จะพูดจุดยืนการตัดสินใจในลงรับสมัครการเลือกตั้ง นายกฯ กล่าวว่า เราทุกคนต้องมีหน้าที่ พรรคเพื่อไทยเองก็ต้องมีหน้าที่ที่จะลงรับสมัครการเลือกตั้ง