นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี คาดว่า ภายในวันศุกร์ที่ 27 ธันวาคมนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะสามารถลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการสภาปฎิรูปประเทศไทย 11 คนเพื่อกำหนดกรอบคุณสมบัติ และสัดส่วน ตัวแทนสาขาอาชีพ นำมาสู่การคัดเลือกตัวแทนสาขาอาชีพ จำนวน 2 พันคน จากนั้นจะให้เลือกกันเอง ให้เหลือ 499 คน มาดำเนินการปฏิรูปประเทศไทย
"โมเดลนี้คล้ายกับเมื่อปี 2516 ในการจัดตั้งสภาสนามม้า ที่เกิดขึ้นเพื่อร่างรัฐธรรมนูญและแก้ไขวิกฤติทางการเมืองในขณะนั้น" นายธงทอง กล่าว
ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะกรรมการ 11 คนจะเริ่มประชุมกันได้ภายใน 2 สัปดาห์ ภายหลังนายกรัฐมนตรีลงนามในคำสั่ง และภายในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมกราคม จะได้ตัวแทนสาขาอาชีพ 2 พันคนที่จะมีการจัดประชุม เพื่อเลือกตัวแทนสมาชิกสภาปฎิรูป 499 คน ได้ภายในปลายเดือนมกราคม ทั้งนี้สถานที่การทำงานและการจัดประชุมของคณะกรรมการ 11 คน จะใช้ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ โดยมีสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นเลขานุการประสานงานด้านเลขานุการ
ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มั่นใจว่า แนวทางดังกล่าวจะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งระหว่าง 1-2 วันนี้ ก่อนที่รัฐมนตรีจะลงนาม ทางรัฐบาลพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆเพิ่มเติม เพื่อนำไปปรับแก้ระเบียบสำนักนายกฯในการจัดตั้งสภาปฎิรูปประเทศ โดยคาดหวังว่ากรอบการทำงานของปสภาปฎิรูปน่าจะไม่เกิน 1 ปี และหากมีการเลือกตั้งหรือได้รัฐบาลชุดใหม่สามารถที่จะยกระดับสถานะของสภาปฎิรูปด้วยการออกเป็น พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา ได้
กระบวนการในการกำหนดคุณสมบัติ หรือสัดส่วนสาขาอาชีพ เบื้องต้นกรรมการ ทั้ง 11 คนจะเลือกประธาน รองประธาน และเลขาธิการคณะกรรมการ จากนั้นจะดำเนินการจัดประชุม ว่าจะกำหนดสัดส่วนสาขาอาชีพอย่างไร อาทิ เกษตรกร ข้าราชการ ภาคธุรกิจ หรืออาชีพอิสระ โดยกรรมการจะต้องมาประมตกลงกันว่า ในแต่ละสาขาอาชีพจะมีสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นของ 2 พันคน เช่นอาจจะกำหนดให้เกษตรกรมี 200 คน หรือภาคธุรกิจ 100 ข้าราชการ 75 คน ทั้งหมดทุกสาขาอาชีพ รวมแล้วต้องได้ 2 พันคน โดยระหว่างกระบวนการ กลุ่มแต่ละสาขาอาชีพที่กล่าวข้างต้น ต้องไปเปิดรับสมัครเพื่อคัดเลือกกันเองให้ได้สัดส่วนตามที่ คณะกรรมการสภาปฎิรูปประเทศกำหนด เพื่อเสนอชื่อมายังคณะกรรมการ ก่อนจะจัดประชุมตัวแทนสาขาอาชีพ นำไปสู่การเลือกสมาชิกสภาเหลือเพียง 499 คน
ส่วนกรณีที่สภาปฏิรูปประเทศไม่ได้กำหนดคู่ขัดแย้งจากกลุ่มคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงนั้น เพราะการเปิดโอกาสให้ทุกอาชีพเข้ามีส่วนร่วมในสภานี้ และเรื่องนี้ถือเป็นโจทย์ของคนไทยทุกคนที่เป็นเจ้าของประเทศ โดยไม่ได้คำนึงว่าเป็นคนกลุ่มสีไหนก็ตาม
ด้านนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรรมการสภาปฎิรูปประเทศ 11 คน จะเข้ามาทำหน้าที่วางกฎเกณฑ์เพื่อให้ได้ตัวแทนสาขาอาชีพ ซึ่งมั่นใจว่าสามารถยึดโยงกับทุกภาคส่วนในสังคม โดยที่ไม่มีฝ่ายการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง