แต่เมื่อสอบถามถึงการปฏิรูปการเมืองและกฎหมายก่อนการเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งก่อนแล้วจึงค่อยปฏิรูป พบว่าผลออกมาใกล้เคียงกัน โดยกลุ่มตัวอย่างชาวอีสานร้อยละ 41.0 เห็นด้วยกับการปฏิรูปการเมืองและกฎหมายก่อนการเลือกตั้ง รองลงมาร้อยละ 39.9 เห็นด้วยกับการเลือกตั้งก่อนค่อยปฏิรูป และอีกร้อยละ 19.1 ยังไม่แน่ใจ
ในส่วนของการรณรงค์หาเสียงกลุ่มตัวอย่างชาวอีสานร้อยละ 57.3 อยากให้พรรคการเมืองแข่งกันชูนโยบายปฏิรูปประเทศมากกว่านโยบายประชานิยม ขณะที่เหลือร้อยละ 42.7 เห็นตรงข้าม
และเมื่อถามถึงว่าหากการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นไปอย่างเรียบร้อยปกติ ท่านจะกาให้พรรคใด กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานร้อยละ 41.4 บอกว่ายังไม่ตัดสินใจ รองลงมาร้อยละ 39.1 จะลงคะแนนเสียงให้พรรคเพื่อไทย (เดิมได้ร้อยละ 34.4 จากผลสำรวจช่วงหลังจากการผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม) ตามมาด้วยร้อยละ 9.8 จะลงคะแนนเสียงให้พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 9.7 เลือกพรรคอื่น ๆ และไม่เลือกพรรคใด (โหวตโน)
เมื่อสอบถามว่าหากในจังหวัดของท่านมีการใช้เงินซื้อเสียงจากพรรคการเมืองหนึ่งในจำนวนที่มากกว่าพรรคคู่แข่งในเขตที่มีการแข่งขันอย่างสูสีจะมีผลทำให้พรรคการเมืองที่ใช้เงินมากกว่าชนะการเลือกตั้งหรือไม่ กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานกว่าร้อยละ 46.5 เชื่อว่าการใช้เงินซื้อเสียงในจำนวนที่มากกว่าคู่แข่งในเขตที่มีการแข่งขันอย่างสูสีอาจมีผลบ้างที่ทำให้ชนะการเลือกตั้ง ร้อยละ 38.2 เชื่อว่ามีผลมาก และอีกร้อยละ 15.3 เชื่อว่าแทบจะไม่มีผล
ส่วนความคิดเห็นต่อผู้สมัครเลือกตั้งที่แจกเงินซื้อเสียง กว่าร้อยละ 61.2 เห็นว่ารับได้/เป็นเรื่องปกติแต่จะกาคะแนนให้กับคนที่ชอบมากกว่า ส่วนอีกร้อยละ 14.9 รับได้/เป็นเรื่องปกติ และจะกาคะแนนให้กับคนที่ให้เงินมากกว่า โดยมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 23.9 ที่รู้สึกรับไม่ได้และจะไม่เลือกผู้สมัครที่แจกเงินเด็ดขาด
การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20-22 ธันวาคม 2556 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,207 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ