นายพีรพันธุ์ กล่าวว่า ป.ป.ช.มีคำสั่งที่ 465/2556 กล่าวหาการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ขัดต่อหลักกฎหมายตามมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) รวม 5 เรื่อง รวมทั้งได้กล่าวหาตามมาตรา 66 ตาม พ.ร.บ.เดียวกัน 3 เรื่อง โดยมาตรา 58 กล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย แต่โดยมาตรา 58 นั้นไม่ใช่มาตราที่เป็นฐานความผิด เพราะฐานความผิดควรระบุว่าเป็นรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายมาตราใด เช่น รัฐธรรมนูญ มาตรา 291(1) (2) หรือ (4) เป็นต้น อีกทั้งควรพิจารณาเรื่องเอกสิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 130 ก่อนด้วย
นายพีรพันธุ์ กล่าวว่า ขณะที่การกล่าวหาตามมาตรา 66 จำนวน 3 เรื่อง กล่าวหาว่าเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญานั้น แต่บทบัญญัติตามมาตรา 66 ดังกล่าวไม่ใช่มาตราที่เป็นฐานความผิด ฐานความผิดควรระบุเป็นประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายมาตราใด เช่น ป.อาญา มาตรา 145 หรือ 157 เป็นต้น และควรพิจารณาก่อนว่าสมาชิกรัฐสภาเป็นเจ้าพนักงานหรือไม่ ดังนั้นทั้งการกล่าวหาตามมาตรา 58 และ 66 ถือได้ว่า คำสั่งของ ป.ป.ช.ตั้งฐานความผิดไม่ตรงข้อกฎหมาย มีความหละหลวม เร่งรีบ และส่อว่าจะถูกนำไปเป็นประเด็นทางการเมือง
"ขอให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตามกฎหมายและอำนาจหน้าที่อย่างยุติธรรม เรื่องใดที่เกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์ กรรมการ ป.ป.ช.ยังไม่ดำเนินการใดๆ แต่เรื่องใดที่เป็นเรื่องของพวกผม ป.ป.ช.จะทำด้วยความเร่งรีบเสมอ ซึ่งผู้ได้ประโยชน์หนีไม่พ้น กปปส.ที่จะนำเรื่องนี้ไปประกาศบนเวทีชุมนุมว่า พวกผมซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งจะมีปัญหา อีกทั้งคำพูดที่ออกจากปากนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.ที่บอกว่าจะเว้นวรรคหรือจะไปตายเอาดาบหน้า ถ้า 383 คนลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ก็ช่วยไม่ได้ ถามว่ามีความเป็นกลางและเหมาะสมสมควรหรือไม่ที่กล่าวออกมา" นายพีรพันธุ์ กล่าว
นายพีรพันธุ์ กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ควรเลื่อนการพิจารณาเรื่องนี้ออกไปจนกว่าจะได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ป.ป.ช. แต่หาก ป.ป.ช.ยังปฏิบัติหน้าที่ด้วยความไม่ชอบธรรม ทาง ส.ส.และ ส.ว.ก็สามารถฟ้องร้อง ป.ป.ช.กลับได้เช่นกันโทษฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ด้านนายเรืองไกร กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีคำสั่งให้ไต่สวนข้อเท็จจริง 383 ส.ส.และ ส.ว.แต่ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเพียง 6 ปากเท่านั้น ทั้งที่มี ส.ส.และ ส.ว.ถูกฟ้องข้อกล่าวหาหลายร้อยคน ถามว่ามีความยุติธรรมหรือไม่
อย่างไรก็ตาม การออกมาคัดค้านครั้งนี้เป็นการยื่นคำร้องให้ ป.ป.ช.ปฏิบัติหน้าที่ในการไต่สวนข้อเท็จจริงด้วยความเที่ยงธรรม และคัดค้านคำสั่งที่จะประชุมในวันที่ 7 ม.ค.นี้เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาอดีต ส.ส.และ ส.ว.เพราะเห็นว่าไม่มีความเที่ยงธรรม
นายอำนวย กล่าวว่า การทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาทำถูกต้องแล้ว ซึ่งในฐานะสมาชิกรัฐสภาสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่ต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยให้ ส.ว.นั้นมาจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้ขอเรียนไปยัง ป.ป.ช.ว่าพวกตน สมาชิกทุกคนพร้อมที่จะไปชี้แจงเป็นรายบุคคล จึงขอให้ ป.ป.ช.เปิดโอกาสให้ทุกคนที่ถูกกล่าวหาได้ชี้แจง เพื่อความยุติธรรม จะไปเหมาเข่งคงไม่ได้ เพราะแต่ละคนจะมีคำร้องที่ไม่เหมือนกัน