ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้ชี้แจงต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถึงความจำเป็นในการลงทุนตาม พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทว่า เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศขาดการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานจนทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยถดถอย ประกอบกับปัญหาการจราจรที่แออัดตามเมืองใหญ่ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมีการลงทุนตามแผนในโครงการดังกล่าว
อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้คำนึงถึงปัญหาหนี้สาธารณะว่าจะต้องไม่เกิน 60% ของจีดีพี รวมถึงการรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด
ด้าน น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ชี้แจงว่า การดำเนินโครงการดังกล่าว หากใช้วิธีการงบประมาณตามปกติ จะทำให้เกิดข้อจำกัดและขาดความต่อเนื่อง เพราะโครงการดังกล่าวมีบางส่วนที่เคยผ่านครม.ไปแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งอาจทำให้เกิดความล่าช้าส่งผลให้ประเทศต้องเสียโอกาสในการแข่งขันกับต่างประเทศ
ส่วนข้อกังวลเรื่องการกู้เงินแล้วจะทำให้เสียวินัยการเงินการคลังนั้น ยืนยันว่าหนี้สาธารณะยังอยู่ในกรอบไม่เกิน 60% ของจีดีพี และภาระหนี้ไม่เกิน 15% ของวงเงินงบประมาณ พร้อมเชื่อว่ามาตรการในการตรวจสอบความโปร่งใสของ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทนี้จะมีความโปร่งใสมากกว่าการใช้งบประมาณตามปกติ เพราะต้องผ่านความเห็นชอบในหลายขั้นตอน อีกทั้งหากรัฐบาลใช้วิธีการงบประมาณปกติ จะทำให้ต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องไปอีกนานจากเดิมที่ตั้งเป้าจดัทำงบสมดุลในปี 60 ซึ่งการทำงบประมาณขาดดุลเป็นเวลานานจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศ
ทั้งนี้ แม้จะมองว่ามีข้อเสียในเรื่องความกังวลต่อความโปร่งใสนั้น แต่จากการประเมินแล้วเชื่อว่า พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจมากกว่า
ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ให้ข้อมูลว่า โครงการรถไฟทางคู่เป็นโครงการพื้นฐานในปัจจุบัน แต่ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงนั้นเป็นโครงการในอนาคตที่จะต้องเชื่อมโยงกับภูมิภาค จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินโครงการนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สอดประสานเชื่อมโยงกัน และต้องกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจออกไป
อนึ่ง ในช่วงเช้าที่ผ่านมา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ไต่สวนคำร้องคัดค้าน พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท โดยมีนายบุญส่ง กุลบุปผา และนายเฉลิมพล เอกอุรุ ตุลาการรศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ดำเนินการไต่สวน ตั้งประเด็นการไต่สวนไว้ 2 ประเด็น คือ 1.กระบวนการตรากฎหมายดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ และ 2.เนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
โดยในประเด็นเรื่องกระบวนการตรากฎหมายนั้น ศาลจะไต่สวนเฉพาะเรื่องการเสียบบัตรแทนกันในการลงมติในร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งศาลได้ขอให้ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี อดีต ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ให้ข้อมูลโดยมีเจ้าหน้าที่ของศาลเปิดคลิปไปพร้อมๆ กับการรับฟังข้อมูลจาก น.ส.รังสิมา หลังจากนั้นศาลได้ให้นายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ที่เป็นผู้เสียบบัตรแทนผู้อื่นนั้นให้ข้อมูล