(เพิ่มเติม) ศาลรธน.มีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยแก้รธน. ม.190 ขัด-ฝ่าฝืนรธน.

ข่าวการเมือง Wednesday January 8, 2014 18:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 17.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำวินิจฉัยคำร้องที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา และสมาชิกรัฐสภา 381 คน ร่วมกันดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เป็นกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกระบวนการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรค 2 และ มาตรา 125 วรรค 1 และได้อำนาจมาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญได้แยกวินิจจัยในแต่ละประเด็น ประเด็นแรก ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ในวาระแรกนั้น มีการตัดสิทธิกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ด้วยการเร่งปิดอภิปรายโดยที่ไม่เปิดโอกาสให้คณะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยได้แสดงความเห็น

ประเด็นที่สอง มีการกำหนดกรอบเวลาในการแปรญัตติที่กระชั้นชิด รวมถึงมีการนับเวลาการแปรญัตติย้อนหลัง ซึ่งทำให้เหลือวันในการแปรญัตติน้อยลง จนทำให้กรรมาธิการเสียงข้างน้อยไม่สามารถดำเนินการได้ทัน

ประเด็นที่สาม มีการแก้ไขถ้อยคำโดยการตัดเนื้อหาที่ให้สิทธิของประชาชนในการรับฟังข้อมูล ตรวจสอบ และแสดงความคิดเห็นในการจัดทำหนังสือสัญญาของฝ่ายบริหาร รวมทั้งการตัดสิทธิของประชาชนที่เข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญาก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันประเทศ

โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก เห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบตามกฎหมายและตามแนวทางที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ โดยเห็นว่ากระบวนการพิจารณากฎหมายดังกล่าวเป็นการตัดสิทธิ์ ส.ส.เสียงข้างน้อยไม่ให้อภิปรายแสดงความคิดเห็น เนื่องจากกรณีนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ แต่การอ้างที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงเพื่ออำนวยความสะดวกให้ฝ่ายบริหารโดยไม่รับฟังเสียงทักท้วง กลายเป็นเผด็จการเสียงข้างมากหรือเผด็จการรัฐสภา เป็นการใช้อำนาจโดยอำเภอใจ ทำลายระบบการถ่วงดุลย์ตรวจสอบ ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติเสียหาย เกิดความบาดหมางในสังคม เพราะการใช้อำนาจจะต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมควบคู่ไปด้วย ไม่ใช่อ้างเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว หรือใช้อำนาจโดยทุจริตฉ้อฉลไม่ได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการปิดกั้นอำนาจของส.ส.แล้ว ในส่วนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังเป็นการตัดสิทธิ์ของประชาชนที่จะเข้าตรวจสอบสาระสำคัญของเรื่องที่อาจมีผลผูกพันต่อประเทศชาติที่ประชาชนควรมีส่วนร่วม ซึ่งข้ออ้างว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ฝ่ายบริหารไม่มีน้ำหนัก เพราะผลเสียที่ตามอาจให้ประเทศชาติเสียหายเกินกว่าจะเยียวยาได้

"อาศัยเหตุผลข้างต้น จึงวินิจฉัยโดยมติเสียงข้างมากว่า การพิจารณาและลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญของผู้ถูกร้องทั้งหมดในคดีนี้ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรค 2 และมาตรา 125 วรรค 1 และการที่ผู้ถูกร้องร่วมกันแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 190 เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 3, 4, 5, 87 และ 122 อันเป็นการกระทำที่ให้บุคคลหรือคณะบุคคลได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 1" คำวินิจฉัยศาลระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ