"ที่ยังอยู่ตำแหน่งก็เพื่อทำหน้าที่จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่"นายกรัฐมนตรี กล่าว
ส่วนกรณีที่มีข่าวว่ากองทัพพร้อมเป็นตัวกลางประสานคุยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข(กปปส.) ก็เป็นเรื่องที่ไม่ขัดข้อง แต่หากอีกฝ่ายยังอยู่ในจุดยืนของตัวเองก็คงลำบาก และเชื่อว่าเวทีปฏิรูปประเทศจะเป็นทางออกของปัญหา
"รัฐบาลเห็นด้วยที่จะมีสภาปฏิรูป และ ในส่วนของรัฐบาลอยากจะให้ใครก็ได้เป็นเวทีกลาง สิ่งที่เราได้ประกาศนั้นเป็นการเริ่มต้น เพื่อให้มีจุดเริ่มต้นให้ทุกภาคส่วนนั้นมาถกในข้อคิดเห็นว่า เห็นด้วยไหม ไม่เห็นด้วยตรงไหน เพราะว่าจริง ๆ แล้วขบวนการเรื่องของสภาปฏิรูปมีอยู่สองส่วน ส่วนหนึ่งคือขั้นตอนที่จะให้เกิดสภาปฏิรูปให้เร็วที่สุด ต้องใช้คำนี้ กับอีกอันหนึ่งคือเนื้อหาที่จะทำให้เกิดสภาปฏิรูป รูปแบบของสภาปฏิรูปก็จะมีอยู่สองเรื่อง เรื่องแรกเรียนว่า คือเรื่องของขั้นตอน จริง ๆ แล้วขั้นตอนที่เราอยากเห็นก็คือว่า ถ้าขั้นตอนที่เราทำ ก่อนที่จะมีรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ด้วยการที่เราได้ตรวจสอบและสอบถามทางกฤษฎีกาแล้ว สิ่งที่เราทำได้เร็วที่สุดคือใช้คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นการเสนอ ฉะนั้นคำสั่งของสำนักนายกรัฐมนตรีเริ่มขึ้นได้ แต่ว่าจะทำอย่างไร เพราะเนื่องจากรัฐบาลนี้ยุบสภาฯ แล้วไม่สามารถจะผูกพันกับรัฐบาลหน้า สิ่งที่ควรจะทำใน step ที่สองคือว่า การเชิญชวนของพรรคการเมืองทุกพรรคมาร่วมกันให้สัตยาบันว่า ถ้าใครเป็นรัฐบาลที่หลังจากการเลือกตั้ง ก็ขอให้นำเจตนารมณ์ของสภาปฏิรูปนี้เข้าไปสู่เป็นวาระแห่งชาติที่จะดำเนินการต่อ คราวนี้ก็จะสามารถที่จะไปสู่ขั้นตอนของรัฐสภาได้ อันนี้คือเป็นขั้นตอนที่เราได้นำเสนอ" นายกฯ กล่าว
ส่วนกระบวนการที่จะเป็นตัวสภาปฏิรูป วันนี้รัฐบาลได้เสนอให้มีการตั้ง 11 ท่าน อย่างที่เรียนว่า 11 ท่านที่มานี้ ไม่ใช่เป็น 11 ท่านที่จะมาเลือก แต่เป็น 11 ท่านที่จะมาวางกรอบกติกาว่าจะได้ 2,000 คนอย่างไร ประกอบไปด้วยตัวแทนอย่างไร อย่างเช่น สมมติว่า ใน 2,000 เราขอให้มีตัวแทนจากกลุ่มเกษตรกร 3 ท่าน คราวนี้เราก็ต้องไปหารือว่ากลุ่มเกษตรกรนี้ เขาจะเข้ามาด้วยการที่จะเลือกกลุ่มเกษตรกร 3 ท่านเข้ามาในนี้อย่างไร จาก 2,000 ก็มาตกลงวิธีการที่จะเลือกเป็น 499 ดังนั้นเช่นเดียวกันกับโมเดลของหลาย ๆ ภาคส่วน ซึ่งเราเป็นตัวตั้งต้น แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่เรียนคือว่า เราต้องการเวทีกลางที่จะมาพูดคุยกันว่า ตกลงจะเอา 2,000 ไหม ตกลงจะเป็น 300 + 100 จะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด หรือจะมีการแต่งตั้งบ้าง อันนี้แหละที่เราต้องการการตกผลึกของสังคม เพราะวันนี้มีหลายสูตร ถ้าเราคุยกัน ที่คิดว่าส่วนใหญ่แล้วเห็นชอบเราก็สามารถที่จะเดินหน้าได้ step ที่ 1 และถ้าเมื่อได้ step ที่ 1 แล้วสิ่งที่เราคุยกันก็คือสุดท้ายขั้นตอนที่ 3 คือตัวเนื้อหาสาระที่จะปฏิรูป ว่าจะปฏิรูปอะไร อย่างไร มีเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ก็มีในมิติความรวดเร็วต่างกัน อะไรที่ทำได้ในอำนาจของกระทรวงก็สามารถแก้ได้เลย อะไรที่ต้องเป็นอำนาจของรัฐสภาก็ต้องรอรัฐสภาที่เกิดจากหลังเลือกตั้ง ก็จะมีขั้นตอนของเวลา
"จึงเรียนว่าเราไม่สามารถที่จะทำปฏิรูปให้เสร็จได้ก่อนเลือกตั้ง และก็เรียนว่ารัฐบาลนี้ไม่ปฏิเสธที่เราจะมีการปฏิรูปเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น เราอยากเห็นการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นให้หมดไปจากสังคมไทย และเราแก้ทั้งระบบ เรายินดีที่จะทำงานกับเครือข่ายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น ทำงานด้วยกัน และเราก็ยินดีที่จะให้แก้ว่าทำอย่างไรให้การเลือกตั้งนี้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม เพื่อให้เกิดความชอบธรรมและโปร่งใส แล้วเรายินดีที่จะเห็นการปฏิรูปข้างหน้า เพื่อให้เป็นสิ่งที่สะท้อนในสิ่งที่สังคมต้องการ แล้วอะไรที่คิดว่าสิ่งที่รัฐบาลทำมา อยากจะปฏิรูปอะไร เรายินดีในการน้อมรับที่จะพูดคุยกัน เรียนด้วยเจตนารมณ์อันนี้ จึงเป็นที่มาว่าสภาปฏิรูปนั้นเราไม่สามารถที่จะทำเสร็จได้ ก็เนื่องจากต้องใช้เวลาขั้นตอนตามกฎหมาย" นายกฯ กล่าว
พร้อมกันนี้ นายกฯ ปฏิเสธว่าไม่มีการเจรจากับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อเปิดทางให้มีการเคลียร์ปัญหาทางการเมืองให้จบก่อนมีการปฏิรูป โดยขอยืนยันว่าไม่มีใครมีอำนาจเหนือประชาชนที่จะสั่งการให้มีการเคลียร์ปัญหาและไม่มีใครที่จะสามารถรับปากแทนใครได้ ซึ่งส่วนตัวหากมีหนทางใดที่จะทำให้ประเทศสงบกลับสู่สันติก็พร้อมที่จะทำทุกวิถีทางให้ความสงบสุขกลับคืนสู่ประเทศ
สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองก่อนถึงวันที่ 13 ม.ค. ได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือการดูแลรักษาความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนแล้ว รวมทั้ง อยากเห็นการชุมนุมเป็นไปอย่างสงบเพราะทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบโดยเฉพาะภาคธุรกิจ ยืนยันว่าจะติดตามสถานการณ์การชุมนุมใหญ่ปิดกรุงเทพด้วยตัวเองและย้ำว่าจะไม่มีการย้ายศูนย์ปฏิบัติการของศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ไปที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สามพราน อย่างแน่นอน
ส่วนกระแสข่าวว่ากองทัพจะปฏิวัตินั้น ขอย้ำว่าทุกฝ่ายจะต้องมาร่วมมือกันเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงแก่บ้านเมือง ซึ่งหากจะปฏิวัติกองทัพจะต้องคิดให้ได้ว่าเป็นผลดีกับประเทศหรือไม่ จึงอยากให้ช่วยกันรักษากติกาโดยฟังเสียงของประชาชนเพื่อให้กลไกและระบอบประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปได้ซึ่งการเลือกตั้งถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด
ทั้งนี้ หากมีการเลือกตั้งไปแล้วไม่สามารถเปิดประชุมสภาเลือกนายกรัฐได้นั้น รัฐบาลก็ขอยืนยันว่า การเลือกตั้งจะต้องดำเนินต่อ และผู้ที่มีอำนาจเลื่อนการเลือกตั้งคือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่วนรัฐบาลมีหน้าที่เพียงประสานการทำงานเท่านั้น และหากใครมีข้อเสนอเกี่ยวกับข้อกฏหมายเพื่อเลื่อนเลือกตั้งก็ให้เสนอแนะมารัฐบาลพร้อมที่จะรับฟัง
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวด้วยว่า ได้ติดตามการปราศรัยของแกนนำ กปปส.บนเวทีและร่วมประเมินสถานการณ์ไปด้วย ซึ่งเห็นว่าการปราศรัยก็มีทั้งข้อเสนอที่จะให้มีการปฏิรูปและต้องการขับไล่ตระกูลชินวัตรให้พ้นจากการเมือง
ส่วนกรณีที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าข้าราชการทุกคนมีหน้าที่ทำงานรับใช้ประชาชน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่ในการดูแลประชาชนเช่นเดียวกับรัฐบาลทีมีหน้าที่ดูแลประชาชน ก็อยากให้ทุกคนตระหนักในหน้าที่และทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด
ในวันนี้นายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงความคืบหน้าการตั้งสภาปฏิรูปและสถานการณ์ทางการเมือง พร้อมด้วยนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรมช.เกษตรและสหกรณ์ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี