กป.อพช.แถลงจุดยืนต่อต้านรัฐประหาร-ความรุนแรง หนุน กกต.ให้เลื่อนการเลือกตั้ง

ข่าวการเมือง Saturday January 11, 2014 14:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศรีสุวรรณ ควรขจร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ออกแถลงการณ์ระบุถึงจุดยืน และข้อเสนอต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่จะเกิดขึ้น ดังนี้ 1.กป.อพช.เคารพเจตจำนงและการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนฝ่ายหนึ่งที่เรียกร้องให้มีระบบการเมืองที่ป้องกันการทุจริตและการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมของนักการเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้อง และเคารพสิทธิในการเลือกตั้งและการเรียกร้องให้มีการเดินหน้าเลือกตั้งซึ่งเป็นฐานรากสำคัญของกระบวนการประชาธิปไตยของประชาชนอีกฝ่ายหนึ่งเฉกเช่นเดียวกัน

เราเชื่อว่าหลักการและวิถีประชาธิปไตยที่มีการใช้อำนาจอย่างเป็นธรรมและปราศจากการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบของนักการเมือง เป็นความปรารถนาร่วมกันของประชาชนทุกฝ่ายในสังคมไทย

2.กป.อพช.เรียกร้องให้ฝ่ายผู้ชุมนุมแสดงออกทางการเมืองอย่างสงบ ปราศจากอาวุธ ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐที่รักษาความสงบของบ้านเมืองหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า ยั่วยุ หรือการใช้มาตรการที่รุนแรงในทุกรูปแบบ

เราขอประณามการกระทำของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดที่ยั่วยุหรือใช้ความรุนแรง และเรียกร้องทุกฝ่ายให้ร่วมกันต่อต้านการก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองซึ่งไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตยไม่ว่าจะโดยการนำของฝ่ายใด

3.กป.อพช. ขอสนับสนุน กกต.ที่เห็นควรให้เลื่อนการเลือกตั้ง เราเรียกร้องให้ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ เร่งพิจารณาและดำเนินการให้มีการเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป เราเห็นว่าการเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งที่ไม่เป็นที่เห็นพ้องต้องกันของทุกฝ่ายนั้น ไม่เพียงจะไม่แก้วิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ แต่จะยิ่งทวีความยุ่งยากซับซ้อนของปัญหาจนไม่อาจคลี่คลายแก้ไข ยิ่งไปกว่านั้น การเดินหน้าสู่การเลือกตั้งโดยพรรคการเมืองคู่แข่ง และประชาชนจำนวนมากไม่ยอมรับ จะยิ่งทำให้การเผชิญหน้าเกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง อาจทำให้ความรุนแรงแพร่ลามออกไปอย่างกว้างขวาง สังคมไทยปริแตกด้วยความเกลียดชังระหว่างประชาชนด้วยกันเอง

เราเชื่อว่า การเจรจาเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันระหว่างฝ่ายต่างๆ อันได้แก่ รัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน กปปส. นปช. และกลุ่มพลังอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เท่านั้น ที่จะนำไปสู่คลี่คลายวิกฤตทางการเมืองได้อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม การเลื่อนการเลือกตั้งจะต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และควรเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ โดยทุกฝ่ายต้องเข้าสู่กระบวนการเจรจาเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน โดยเฉพาะทุกพรรคการเมืองต้องเห็นพ้องและพร้อมที่จะเข้าร่วม นอกจากนั้น ทุกฝ่ายต้องเจรจาเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับ แนวทาง วิธีการจัดตั้ง และองค์ประกอบของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยที่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม และเร่งดำเนินการให้คณะกรรมการปฏิรูปได้รับการจัดตั้ง เพื่อการปฏิรูปสามารถดำเนินการได้ทันทีภายหลังการเจรจา โดยดำเนินงานต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนไปจนถึงหลังเลือกตั้ง ทั้งนี้ ฝ่ายการเมืองทุกฝ่ายต้องให้สัญญาประชาคมว่า ข้อเสนอในการปฏิรูปประเทศไทยนั้น จะต้องถูกนำไปปฏิบัติโดยรัฐสภาและรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

กป.อพช. เชื่อว่าการแทรกแซงจากอำนาจนอกระบบที่มิใช่วิถีทางประชาธิปไตยจะทำให้สถานการณ์เลวยิ่งขึ้น กระบวนการเจรจาระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ที่เป็นคู่ขัดแย้ง เป็นเพียงหนทางเดียวเท่านั้นที่จะคลี่คลายแก้ไขวิกฤตทางการเมืองครั้งนี้ได้โดยแท้จริง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ