เมื่อไม่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความผิดทางอาญา ปรากฏในกระบวนการพิจารณาและในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และนอกจากนั้น ยังไม่มีคำสั่งยุบพรรคการเมืองด้วย จึงไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นความผิดทางอาญาอันอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. อัยการสูงสุด ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งวุฒิสภาที่จะดำเนินคดี ฟ้องคดี พิจารณาพิพากษาคดี รวมทั้งลงมติถอดถอน ตามมาตรา 270 มาตรา 271 มาตรา 272 มาตรา 273 มาตรา 274 และมาตรา 275 ได้
สำหรับกรณีความผิดทางอาญาตามที่บัญญัติในมาตรา 68 ไม่ว่าจะเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ "ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" หรือ "กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยไม่ใช่วิธีการที่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้" ซึ่งเป็นฐานความผิดเดียวกันกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 นั้น เป็นอำนาจของพนักงานสอบสวน อัยการ และศาลอาญา ที่จะพิจารณาคดี ฟ้องคดี และพิจารณาพิพากษาคดี นอกเหนือจากความผิดทางรัฐธรรมนูญซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนกรณีความผิดทางอาญาตามที่บัญญัติในมาตรา 270 และมาตรา 275 ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้น เป็นอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. อัยการสูงสุด และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่จะทำการไต่สวน ดำเนินคดี ฟ้องคดี และพิจารณาพิพากษาคดี
ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว. และมาตรา 190 ของ 312 ส.ส. และ ส.ว. และของ 308 ส.ส. และ ส.ว. ตามลำดับ เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 68 จึงไม่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะไต่สวน นอกเหนือจากข้อเท็จจริงที่ว่าในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังกล่าว ไม่มีกรณีความผิดทางอาญาอีกต่างหาก