จากการสอบถามความเห็นของกลุ่มตัวอย่างชาวอีสานว่า กฎหมายและกระบวนการเลือกตั้งในปัจจุบัน ทำให้ประเทศได้ผู้แทน (นักการเมือง) ที่มีคุณภาพสำหรับท่านหรือไม่ ผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 50.5 เห็นว่าทำให้ได้นักการเมืองที่มีคุณภาพเพียงกึ่งหนึ่ง อีกกึ่งหนึ่งด้อยคุณภาพ รองลงมาร้อยละ 34.5 เห็นว่าทำให้ได้นักการเมืองมีคุณภาพเป็นส่วนใหญ่ และอีกร้อยละ 15.0 เห็นว่าทำให้ได้นักการเมืองด้อยคุณภาพเป็นส่วนใหญ่
เมื่อสอบถามความเห็นต่อการปิดกรุงเทพฯในวันที่ 13 มกราคม เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ ก่อนจัดการเลือกตั้ง กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 77.6 รู้สึกไม่เห็นด้วย รองลงมาร้อยละ 11.6 รู้สึกเห็นด้วย และอีกร้อยละ 10.8 ไม่แน่ใจ
อีสานโพลได้สอบถามต่อว่า จากปัญหาการสมัครรับเลือกตั้งที่ผ่านมา เมื่อมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 จะทำให้ประเทศพบทางออกหรือทางตัน อันดับหนึ่งร้อยละ 42.4 รู้สึกไม่แน่ใจ รองลงมาร้อยละ 38.0 เห็นว่าเป็นทางออก และอีกร้อยละ 19.6 เห็นว่าเป็นทางตัน
สำหรับการเลือกตั้งที่กำหนดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 นั้น มีความกังวลว่าจะมีเหตุการณ์รุนแรง นำไปสู่การสูญเสียหรือนองเลือด เหมือนกับที่เพิ่งเกิดขึ้นในบังคลาเทศหรือไม่ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.4 รู้สึกกังวลเล็กน้อย รองลงมาร้อยละ 25.6 รู้สึกกังวลมาก และอีกร้อยละ 19.0 ไม่รู้สึกกังวลเลย
สำหรับแนวโน้มการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 นั้นพบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานกว่าร้อยละ 72.4 คาดว่าจะไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง รองลงมาร้อยละ 6.4 คาดว่าจะไม่ไปใช้สิทธิ์ และอีกร้อยละ 21.2 ยังไม่แน่ใจ
เมื่อสอบถามถึงแนวทางที่คาดว่าจะเป็นทางออกของบ้านเมือง จากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาเป็นระยะเวลานาน แนวทางที่ 1 คือการเดินหน้าเลือกตั้งไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่ กลุ่มตัวอย่างมีเสียงก้ำกึ่ง โดยร้อยละ 50.7 เห็นว่าแก้ปัญหาบ้านเมืองได้ อีกร้อยละ 49.3 เห็นว่าแก้ไม่ได้ ส่วนแนวทางที่ 2 คือการเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย ตามแนวทางของ กปปส. ซึ่งนำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 85.9 เห็นว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้ อีกร้อยละ 14.1 เห็นว่าแก้ปัญหาได้ แนวทางที่ 3 คือการเลื่อนการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ ออกไปก่อน แล้วหาคนกลางเข้ามาไกล่เกลี่ยประนีประนอม ส่วนใหญ่ร้อยละ 62.8 เห็นว่าแก้ปัญหาบ้านเมืองได้ และอีกร้อยละ 37.2 เห็นว่าแก้ไขปัญหาไม่ได้ ส่วนแนวทางสุดท้าย แนวทางที่ 4 การปฏิวัติหรือทำรัฐประหารโดยทหาร ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 74.7 เห็นว่าแก้ปัญหาบ้านเมืองไม่ได้ และอีกร้อยละ 25.3 เห็นว่าแก้ไขปัญหาได้
สำหรับข้อเสนอแนะอื่นๆ ของชาวอีสานต่อการแก้ปัญหาบ้านเมือง ส่วนใหญ่เห็นว่าควรหยุดการชุมนุมทุกรูปแบบ และหันหน้าพูดคุยเจรจา แล้วจัดการเลือกตั้งใหม่อย่างยุติธรรม ให้ทุกฝ่ายยอมรับ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอเช่น ให้นักการเมืองทุกฝ่ายเว้นวรรคทางการเมือง แล้วดำเนินการเลือกตั้งให้คนใหม่ๆ เข้ามาบริหารประเทศ เสนอให้ปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นอย่างจริงจังและมีบทลงโทษที่รุนแรง และเสนอให้ทุกฝ่ายลดความเห็นแก่ตัว แล้วคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก เป็นต้น
ทั้งนี้ อีสานโพล ได้สำรวจความคิดเห็นของคนอีสานเกี่ยวกับทางออกทางการเมืองของประเทศไทย ก่อนที่กลุ่ม กปปส. จะมีการชุมนุมปิดกรุงเทพมหานคร โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 10-12 มกราคม 2557 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,253 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ