เมื่อพิจารณาจากรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว ข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่มีฐานทางกฎหมายรองรับ และขาดเหตุผลความชอบธรรมอย่างยิ่ง การยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นการคืนอำนาจกลับไปให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจได้ตัดสินใจแสดงเจตจำนงทางการเมืองตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตย จึงเท่ากับว่าบัดนี้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจกำลังรอคอยที่จะใช้อำนาจของตนอยู่ในวันที่ได้กำหนดไว้ชัดเจนแล้วตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร และไม่ปรากฏว่ารัฐธรรมนูญให้อำนาจแก่องค์กรใดๆ ในการตราพระราชกฤษฎีกาใหม่ให้เลื่อนวันเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ยังไม่เกิดการเลือกตั้งขึ้นเลยได้
การเสนอให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่ทั้งๆ ที่ยังไม่เกิดการเลือกตั้งขึ้น หรือมีปัญหาใดๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง จึงเป็นการเรียกร้องหรือเสนอแนะให้คณะรัฐมนตรีที่รักษาการอยู่ในขณะนี้ กระทำการอันขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย การเสนอให้คณะรัฐมนตรีกระทำการอันขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายเช่นนี้ เป็นการเสนอที่ไร้ความรับผิดชอบ
ส่วนที่มีผู้กล่าวอ้างว่า หากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในวันเลือกตั้ง หรือเกิดภัยพิบัติต่างๆ ขึ้น ก็จะต้องเลื่อนการเลือกตั้งอยู่นั่นเอง ข้ออ้างดังกล่าวอำพรางความต้องการที่แท้จริง คือ ความต้องการที่จะขับไล่คณะรัฐมนตรีรักษาการและการตั้งคณะรัฐมนตรีนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากขณะนี้ยังไม่ถึงวันเลือกตั้ง หากถึงวันเลือกตั้งแล้วมีเหตุการณ์ที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถไปออกเสียงลงคะแนนได้ ไม่ว่าจะเป็นการจลาจล ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่นใด เจ้าหน้าที่ที่จัดการการเลือกตั้งย่อมมีอำนาจประกาศการงดลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้ง และกำหนดวันลงคะแนนใหม่ได้ ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา 78
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การเลื่อนการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งสามารถกระทำได้ตามเหตุที่กฎหมายกำหนดซึ่งต้องพิจารณาเป็นหน่วยเลือกตั้งไป ไม่ใช่เอาเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีขึ้นในวันเลือกตั้งหรือวันที่ใกล้เคียงกันก่อนวันเลือกตั้ง และอาจเกิดขึ้นเฉพาะบางหน่วยเลือกตั้งนั้นมาเป็นเหตุให้เลื่อนการเลือกตั้งทั้งประเทศออกไป
นอกเหนือที่อาจเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบแล้ว ยังมีผู้กล่าวอ้างเช่นกันว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 นั้น อาจเป็นโมฆะด้วยเหตุผลต่างๆ กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุผลที่ในบางเขตเลือกตั้งไม่สามารถรับสมัครเลือกตั้งได้ เนื่องจากมีการขัดขวางการเลือกตั้งนั้น การไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งได้นั้นเป็นความรับผิดชอบของ กกต.เพราะ กกต.ไม่ขยายระยะเวลาการสมัครรับเลือกตั้งออกไป ทั้งๆ ที่สามารถกระทำได้ตามกฎหมาย
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เหตุดังกล่าวนี้ก็ไม่ใช่เหตุที่จะนำมาอ้างให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้ หลังจากการเลือกตั้งหากปรากฏว่าเขตเลือกตั้งใดยังไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรณีย่อมเป็นหน้าที่ของ กกต. ที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจนครบจำนวนในภายหลัง ในกรณีที่ยังไม่สามารถเปิดสภาผู้แทนราษฎรได้ คณะรัฐมนตรีรักษาการย่อมีความชอบธรรมที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไป
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปภายหลังจากที่ยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้วในระยะเวลาไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนั้น ก็เนื่องมาจากรัฐธรรมนูญไม่ต้องการให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะเนื่องจากการยุบสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในตำแหน่งในฐานะเป็นคณะรัฐมนตรีรักษาการนานเกินไป ดังนั้นผู้ที่เสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งทั้งหลายพึงสำเหนียกไว้ด้วยว่าหากมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ก็เท่ากับว่าคณะรัฐมนตรีรักษาการก็จะต้องอยู่รักษาการนานต่อไปด้วย จนกว่าคณะรัฐมนตรีคณะใหม่ที่ตั้งขึ้นภายหลังการเลือกตั้งจะเข้ารับหน้าที่
ด้วยเหตุนี้ ความพยายามขัดขวางการเลือกตั้ง ความพยายามให้เลื่อนการเลื่อนตั้งออกไป จึงเท่ากับการยอมให้คณะรัฐมนตรีรักษาการต้องอยู่ในตำแหน่งนานต่อไปเช่นกัน หากผู้ใดเสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป แต่ให้คณะรัฐมนตรีรักษาการต้องออกจากตำแหน่งทั้งคณะ (ซึ่งไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญรองรับให้กระทำได้) หรือแม้ไม่ได้แสดงออกอย่างชัดแจ้งให้คณะรัฐมนตรีรักษาการพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ แต่ภายในใจต้องการเช่นนั้น
"ข้อเสนอเช่นนี้ ย่อมเป็นข้อเสนอที่เรียกว่า “เอาแต่ได้" เป็นข้อเสนอที่น่าชิงชังรังเกียจ เพราะผู้เสนอมองไม่เห็นหัวของผู้คนจำนวนมหาศาลที่รักสันติภาพ เคารพความแตกต่างในระบอบประชาธิปไตย และต้องการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตามวิถีทางของอารยะชน ไม่ใช่วิถีทางของอันธพาล"นายวรเจตน์ ระบุ