"เมื่อ กกต.เสนอความเห็นมาอย่างนี้ เราก็จะขอฟังเหตุผลก่อนว่าทำได้หรือไม่ คงต้องมาแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกันก่อนจากหลายๆ ฝ่าย เราจะฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน" นายพงศ์เทพ กล่าว
โดยเห็นว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามเปิดโอกาสให้ตัวแทนจาก กปปส.ได้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นการหาทางออกประเทศในเวทีต่างๆ แต่ก็ไม่เคยได้รับความร่วมมือในการส่งตัวแทนมา
สำหรับจุดยืนของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) ที่ยังคงยืนยันจะให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกจากรักษาการนายกรัฐมนตรีนั้น นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าเมื่อนายกัรฐมนตรีประกาศยุบสภา คณะรัฐมนตรีทั้งคณะถือว่าพ้นจากตำแหน่ง แต่ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่หาก กปปส.ไม่ต้องการให้รัฐบาลนี้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ก็ควรจะเดินหน้าให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อจะได้มีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน
"ถ้ากปปส.ไม่อยากให้รัฐบาลชุดนี้ปฏิบัติหน้าที่ต่อ ก็รีบให้มีการเลือกตั้ง รัฐบาลนี้จะได้ไปเสียที" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
ส่วนการควบคุมดูแลสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่ม กปปส.นั้น นายพงศ์เทพ เห็นว่า นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ ในฐานะที่กำกับดูแลศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) ดำเนินการได้ดีอยู่แล้ว โดยพยายามดูแลไม่ให้การชุมนุมกระทบกับประชาชนส่วนใหญ่ และที่ผ่านมาก็ทำได้ในระดับที่น่าพอใจ
สำหรับข้อกังวลเรื่องการทำรัฐประหารนั้น นายพงศ์เทพ ยังเชื่อมั่นว่ากองทัพคงจะไม่ดำเนินการเช่นนั้น เพราะที่ผ่านมาได้มีข้อพิสูจน์แล้วว่า การทำปฏิวัติรัฐประหารไม่เป็นที่ยอมรับจากทั้งคนไทยด้วยกัน รวมทั้งนานาประเทศด้วย
"เราเชื่อว่าแม้กรณีผู้ชุมนุมจะพยายามกระทำการบางอย่างเหมือนกับการยึดอำนาจ เช่น การให้คนนั้นคนนี้ไปรายงานตัว แต่ก็ไม่มีใครไป หรือมีการยั่วยุให้มีคนเข้ามายึดอำนาจ แต่เราเชื่อว่าผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายทราบดีว่าการทำอย่างนั้น เหมือนที่เคยทำได้ในอดีต ทำไม่ได้ในปัจจุบัน คนไทยไม่รับ สังคมนานาอารยะประเทศก็ไม่รับ เชื่อว่าผู้ที่มีความสามารถในการดำเนินการทั้งหลาย คงไม่มีท่านใดที่คิดจะทำอย่างนั้น" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นหนังสือเชิญจากรัฐบาล พร้อมมองว่าการนัดหารือในวันที่ 15 ม.ค.อาจจะไม่เกิดประโยชน์นัก เนื่องจากกระบวนการในการพูดคุยกันวงใหญ่ทำให้ยิ่งมีความเห็นที่แตกต่างกันมากขึ้น และอาจจะไม่ได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ ดังนั้นเห็นว่าควรจะหารือกันในวงเล็กๆ ก่อน คือระหว่างนายกรัฐมนตรีกับประธาน กกต.
"เราอยากให้มีการคุยกันระหว่างรัฐบาลกับ กกต.ก่อน เพื่อให้มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน...ท่านนายกฯ ควรได้คุยกับเราก่อนว่าจากปัญหาที่เกิดขึ้น ท่านมีความเห็นอย่างไร และมีแนวทางในการแก้ปัญหาที่เห็นพ้องต้องกันอย่างไรบ้าง อยู่ดีๆ เอาโจทย์ไปโยนให้คน 70 คน คุยกัน 2 ชม.คงไม่ได้เรื่อง แต่ละคนพูด 3 นาทีก็หมดเวลาแล้ว ตัวหลักต้องเห็นตรงกันในบางอย่างก่อน" นายสมชัย กล่าว
พร้อมยืนยันว่า พรุ่งนี้คงจะไม่เป็นตัวแทนของ กกต.ไปหารือตามคำเชิญของรัฐบาลในวันพรุ่งนี้ ส่วน กกต.จะมอบหมายใครไปเป็นตัวแทนนั้นก็แล้วแต่ที่ประชุมจะพิจารณา แต่ยืนยันว่าในหลักการแล้วควรจะคุยกันในวงเล็กก่อน
อย่างไรก็ดีในท้ายสุด หากมีข้อสรุปว่ารัฐบาลจะเดินหน้าให้มีการเลือกตั้งตามกำหนดเดิมคือวันที่ 2 ก.พ.57 ทาง กกต.ก็พร้อมจะจัดการเลือกตั้งอย่างเต็มความสามารถ เพียงแต่ผลต่างๆ ที่จะตามมาจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ รัฐบาลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
"เราก็จัดการเลือกตั้งไปตามหน้าที่ ทำอย่างเต็มความสามารถ ไม่มีสิ่งใดที่จะลดหย่อน แต่ผลต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้น รัฐบาลต้องรับผิดชอบ เพราะเราได้ให้ข้อคิดเห็นไปแล้วว่าจะมีผลอะไรเกิดขึ้น ในฐานะที่เราดูแลจัดการเรื่องนี้อยู่ เราพอคาดการณ์สถานการณ์ได้ กกต.ท่านหนึ่งพูดไว้ว่าเหมือนเราเป็นคนขับเรือ เรารู้ว่าคลื่นลมแรง ควรงดออกจากฝั่ง ไม่จับปลาวันนี้ไปจับวันหน้าได้ไหม ถ้ายังสั่งการว่าต้องเป็นไปตามกำหนด ต้องออกให้ได้ ไม่ฟังเสียงคนขับเรือ ท่านก็ต้องรับผิดชอบ" นายสมชัย กล่าว