"ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเลือกตั้งในปี 2549 คือ การเลือกตั้งในครั้งนั้นเป็นการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ไม่ใช่การสั่งเลื่อนการเลือกตั้ง และการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ก็เป็นอำนาจของ กกต. เพราะศาลได้สั่งให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 49 ที่ได้เลือกตั้งไปแล้วเป็นโฆษะ ไม่ใช่สั่งให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป ขอนายอภิสิทธิ์อย่านำมาผูกเป็นเรื่องเดียวกันกับการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะอย่างไรก็เลื่อนเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.นี้ออกไปไม่ได้" นายคณิน กล่าว
กรณีที่ กกต.มีหนังสือให้นายกรัฐมนตรีสั่งเลื่อนการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.ออกไปนั้นเท่ากับบีบบังคับให้นายกรัฐมนตรีแก้ไข พ.ร.ฎ. เพราะถึงอย่างไร พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร ก็แก้ไขอะไรไม่ได้ แม้ กกต.ทั้งคณะจะลาออกไปก็ไม่ได้ส่งผลกระทบ พ.ร.ฎ.ก็ยังอยู่ เพียงแต่ว่านายกรัฐมนตรีก็ต้องรักษาการต่อไปจนกว่าจะมีการโปรดเกล้า กกต.ชุดใหม่
"อำนาจสั่งเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอยู่ที่ กกต. ถ้า กกต.ลาออกทั้งคณะ กกต.ก็อาจเจอข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 ได้" นายคณิน กล่าว
นายคณิน กล่าวว่า การเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.57 นั้นเป็นไปตาม พ.ร.ฎ.ซึ่งมีผลใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค.56 และจะสิ้นสุดการใช้บังคับก็ต่อเมื่อสภาผู้แทนราษฎรมี ส.ส.ครบ 500 คน ตามมาตรา 93 วรรคแรก และภายใน 30 วันหลังการเลือกตั้ง คือภายในวันที่ 3 มี.ค.57 กกต.ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งให้ครบ อย่างน้อยต้องมี ส.ส.ถึง 95% หรือ 475 คน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 127 เพื่อเปิดสภาฯ
"ถ้าถึงวันที่ 3 มีนาคมแล้วยังมี ส.ส.ไม่ครบ 475 คน ถือเป็นความผิดของ กกต. ฉะนั้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งให้ได้ ส.ส.อย่างน้อย 475 คน ก่อนวันที่ 3 มีนาคม ต่อจากนั้นเมื่อเปิดสภาแล้วยังมี ส.ส.ไม่ครบ 500 คน กกต.ก็มีเวลาอีก 180 วัน ที่จะหา ส.ส.ให้ครบ 500 คน คำว่า 180 วันนับตั้งแต่วันที่มีพระราชกฤษฏีกาที่นายสมชัย กกต. อ้างถึงนั้น หมายถึง 180 วัน หลังจากที่สภาเปิดแล้ว ไม่ใช่ 180 วัน หลังจากวันที่ประกาศพระราชกฤษฎีกา" นายคณิน กล่าว
นายคณิน กล่าวว่า หลังจากนายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้นมา นายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งเลย อย่าว่าแต่อำนาจในการสั่งเลื่อนการเลือกตั้ง แม้แต่อำนาจในการไปสั่งข้าราชการให้ทำอะไรเกี่ยวกับการเลือกตั้งยังทำไม่ได้ เพราะเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เพราะอำนาจในการสั่งข้าราชการ ที่จะให้ปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้ง เป็นอำนาจของ กกต.แต่เพียงผู้เดียว
"การที่ กกต.มีหนังสือขอให้นายกรัฐมนตรีแก้ไขพระราชกฤษฎีกาเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเป็นวันที่ 4 พ.ค. นั้น จึงเป็นการกระทำที่อยู่นอกกรอบของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญคือรู้อยู่แล้วว่านายกรัฐมนตรีทำผิดกฎหมายไม่ได้ จึงไม่แน่ใจว่า กกต. มีเจตนาอะไรแฝงอยู่ หรือว่าเป็นห่วงว่าพรรคประชาธิปัตย์จะตกรถด่วนเที่ยวสุดท้าย จึงหาทางช่วยโดยการมาบีบบังคับนายกรัฐมนตรีให้ทำผิดกฎหมาย หรือว่ามีเจตนาลับ ลวง พราง ที่จะให้นายกรัฐมนตรีทำผิดกฎหมาย เพื่อที่จะให้เกิดความวุ่นวาย สูญญากาศ และล้มกระดาน" นายคณิน กล่าว