(เพิ่มเติม1) เลือกตั้ง'57:นายกฯเผยมติที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นชอบเลือกตั้ง 2 ก.พ.-ไม่มีอำนาจเลื่อน

ข่าวการเมือง Wednesday January 15, 2014 15:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้สรุปมติในการหารือร่วมกับหลายหน่วยงานเพื่อพิจารณาข้อเสนอแนะของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ที่เสนอให้เลื่อนวันเลือกตั้งนั้น ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่เห็นสมควรให้มีการเลือกตั้งต่อไปในวันที่ 2 ก.พ.57 ส่วนการเลื่อนวันเลือกตั้งนั้นไม่ใช่อำนาจที่รัฐบาลและ กกต.จะดำเนินการได้
"ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ให้ดำเนินการการเลือกตั้ง ไม่ได้ให้อำนาจที่รัฐบาลหรือ กกต.เลื่อนการเลือกตั้ง ซึ่งเราจะปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ" นายกรัฐมนตรี กล่าว

พร้อมยืนยันว่า ปัญหาข้อติดขัดจากการเลือกตั้ง เช่น การรับสมัคร หรือการดำเนินการให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยนั้น ทางรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดยินดีจะทำตามคำสั่งหรือมติ กกต.ได้ทันที เพียงแต่ขอให้ กกต.ทำหนังสือหรือชี้แจงมาเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน

ส่วนแนวทางการปฏิรูปนั้น รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่งจะเดินหน้าโดยใช้เวทีสภาปฏิรูปต่อไป พร้อมยินดีให้กลุ่มบุคคลที่เห็นต่างเข้ามาร่วมแสดงความเห็นในเวทีนี้ด้วย

สำหรับผลการประชุมทั้งหมดในวันนี้จะมีการสรุปและส่งให้คณะกรรมการ กกต.ต่อไป

นายโภคิน พลกุล ตัวแทนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คณะกรรมการ กกต.ไม่พยายามอย่างเต็มที่ที่จะผลักดันให้มีการเลือกตั้ง พร้อมเสนอแนะให้ กกต. ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งตามที่กฎหมายกำหนดและอย่าคิดว่าสถานการณ์ปัจจุบันจะเป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้ง เพราะ กกต. มีอำนาจจัดการเลือกตั้งเต็มที่ หากเห็นควรอย่างไรก็ดำเนินการได้ทันทีและสามารถขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนได้ อย่างไรก็ตามในภาวะปัจจุบันขอเรียกร้อง กกต. ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาและเต็มความสามารถ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา

นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งแล้ว กระบวนการต่างๆก็ต้องเดินหน้า และเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.ตามรัฐธรรมนูญที่จะดำเนินการต่อไป

ด้านนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. ชี้แจงว่า ยินดีที่จะนำข้อเสนอจากพรรคการเมืองที่เห็นควรให้เดินหน้าจัดการเลือกตั้ง ส่งให้ กกต.พิจารณา พร้อมยืนยันว่า กกต. ไม่ได้นิ่งเฉย ยังคงเดินหน้าจัดการเลือกตั้งตามกำหนดเดิม แต่ที่ผ่านมาพบปัญหาในเรื่องของสถานที่และเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง จึงต้องขอความร่วมมือจากส่วนราชการและภาคประชาชนให้ช่วย กกต.จัดการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ 15 จังหวัดภาคใต้ที่ยังขาดแคลนบุคคลากรในหลายเขตเลือกตั้ง

ส่วนสาเหตุที่ กกต. ไม่สามารถดำเนินการจัดการเลือกตั้งได้ เพราะใน 24 แห่ง ใน 15 จังหวัดภาคใต้ กกต.จังหวัดไม่ได้รับความร่วมมือให้จัดการรับสมัครเลือกตั้ง ทั้งสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่ถูกกดดัน ข่มขู่ไปจนถึงคนในครอบครัว แต่ยืนยัน กกต.ไม่ได้นิ่งเฉยกับปัญหาดังกล่าว

กรณีที่จะมีการนำมติกกต.สอบถามไปยังศาลรัฐธรรมนูญนั้น นายภุชงค์ กล่าวว่า ไม่ได้เป็นมติของ กกต.ทั้งหมดแต่อย่างใด แต่เป็นแค่เพียงความคิดเห็นส่วนตัวของนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ฝ่ายจัดการเลือกตั้ง โดยต้องรอฟังมติกกต.อีกครั้งว่าจะมีมติออกมาอย่างไร

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ เรียกร้องให้ กกต. แจ้งความดำเนินคดีต่อผู้ที่ขัดขวางการเลือกตั้ง

พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่า กระทรวงกลาโหมยินดีให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานของกกต.ตามที่กกต.ร้องขอมา โดยพร้อมประสานไปยังกองทัพไทย รวมไปถึงจะมีการจัดเตรียมเฮลิคอปเตอร์ในการขนย้ายหีบบัตรเลือกตั้ง

ด้านพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวมถึงนายวิบูลย์ สงวนพงษ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยืนยันตรงกันว่าพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับ กกต.อย่างเต็มที่ โดยจะจัดส่งกำลังพลไปประจำหน่วยเลือกตั้ง และยินดีให้ความร่วมมือในการดูแลความสงบเรียนบร้อยในพื้นที่ที่เป็นปัญหา

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ สนับสนุนให้มีการเลือกตั้ง ในวันที่ 2 ก.พ.นี้ โดยต้องทำคู่ขนานไปกับการปฏิรูปประเทศ และเห็นว่า สถานการณ์ความขัดแย้งในวันนี้มีบริบทที่แตกต่างจากปี 2549 ที่ตนเองทำปฎิวัติรัฐประหาร และสถานการณ์วันนี้ เชื่อว่าการทำปฏิวัติรัฐประหาร จะไม่ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองจบ แต่ต้องเดินตามกรอบของกฎหมาย ดังนั้นแนวทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ ทุกฝ่ายต้องคุยกันเพื่อให้ประเทศเดินหน้า ที่สำคัญนักการเมืองต้องปฎิรูปตนเองก่อน เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากนักการเมือง

ทั้งนี้ส่วนตัว เชื่อว่า ผู้บัญชาการเหล่าทัพจะไม่ทำปฏิวัติรัฐประหาร เพราะเหล่าทัพและนายกรัฐมนตรีได้มีการพูดคุยกันตลอด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ