ส่วนดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 38 คะแนน ลดลงจาก 40 คะแนน และดัชนีแนวโน้มสถานการณ์คอร์รัปชันไทยอยู่ที่ 40 คะแนน ลดลงจาก 42 คะแนน
นอกจากนี้ ยังพบว่า 42% ของผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกับภาครัฐต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษให้แก่ข้าราชการ/นักการเมืองที่ทุจริต เพื่อให้ได้สัญญา ตั้งแต่ 26% ถึงมากกว่า 35% ของรายรับ รายรับลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนที่ 51.8% และอีก 58% ต้องจ่ายเพิ่ม 1-25%
โดยเมื่อประเมินวงเงินคอร์รัปชันจากค่าครุภัณฑ์ ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ในปี 56 ที่มีมูลค่ารวม 942,608 ล้านบาทแล้ว หากมีคอร์รัปชัน 25% เท่ากับสูญเสียเม็ดเงินไปกับการคอร์รัปชันถึง 235,652 ล้านบาท คิดเป็น 9.82% ของงบประมาณรายจ่ายปี 56 ที่ 2.4 ล้านล้านบาท และคิดเป็น 1.88% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) ปี 56 ที่มีมูลค่า 12.54 ล้านล้านบาท
แต่หากมีการจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเป็น 30% เท่ากับมีเม็ดเงินที่สูญเสียไปการคอรัปชันถึง 282,782.4 ล้านบาท คิดเป็น 11.78% ของงบประมาณรายจ่าย และคิดเป็น 2.25% ของจีดีพี และหากมีการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษเพิ่มเป็น 35% จะสูญเสียเม็ดเงินเพิ่มขึ้นเป็น 329,912.8 ล้านบาท คิดเป็น 13.75% ของงบประมาณรายจ่าย และคิดเป็น 2.63% ของจีดีพี จากปี 55 ที่หากมีการคอรัปชัน 25-35% ความเสียหายจะอยู่ที่ 210,035.8-294,050.1 ล้านบาท คิดเป็น 8.83-12.36% ของงบประมาณรายจ่ายปี 55 ที่ 2.38 ล้านล้านบาท และคิดเป็น 1.81-2.54% ของจีดีพี ที่มีมูลค่า 11.57 ล้านล้านบาท
"สถานการณ์คอร์รัปชันไทยยังมีความรุนแรงมากขึ้น เพราะผู้ประกอบการยังต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษเพื่อให้ได้สัญญามากขึ้นอีก ซึ่งจากการสำรวจของศูนย์ฯตั้งแต่ปี 54 เป็นต้นมา พบว่าเม็ดเงินที่เสียหายจากคอร์รัปชันเพิ่มขึ้นจาก 194,395-272,153 ล้านบาทในปี 54 เป็น 210,035-294,050 ล้านบาทในปี 55 และเป็น 235,652-329,912 ล้านบาทในปี 56 หรือเสียหายเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 20,000 ล้านบาท ถ้าดึงเงินจากคอร์รัปชันเข้าระบบได้ จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ประมาณ 1%"
ทั้งนี้ แม้สถานการณ์คอร์รัปชันในไทยยังมีความรุนแรง แต่คนไทยมีจิตสำนึกต่อการทุจริตมากขึ้น โดยเมื่อถามถึงเห็นด้วยหรือไม่ว่าการที่รัฐบาลทุจริตแต่มีผลงานและทำประโยชน์ให้สังคมเป็นเรื่องรับได้ หรือเห็นด้วยหรือไม่ว่าการทุจริตเป็นเรื่องไกลตัวไม่เกี่ยวกับตัวเองโดยตรง หรือเห็นด้วยหรือไม่ว่าการให้สินน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเรื่องไม่เสียหาย ส่วนใหญ่กว่า 80% ตอบว่าไม่เห็นด้วย
ขณะที่ความสามารถที่จะทานทนต่อการคอร์รัปชันนั้น อยู่ที่ 2.53 คะแนน จากเต็ม 10 คะแนน ลดลงจากครั้งก่อนที่อยู่ที่ 3.08 คะแนน ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่เริ่มสำรวจเมื่อปี 54 ที่คะแนนความทานทนต่ำกว่า 3 คะแนน (0 คะแนน คือเกลียดการทุจริต/ไม่สามารถทนได้ และ 10 คะแนน คือสามารถทนได้)
"ในปี 57 เชื่อว่าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ถ้าปัจจัยต่างๆ ยังไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม โดยเฉพาะรัฐบาลที่ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ ทำให้สังคม และพรรคการเมืองปฏิเสธการคอร์รัปชันมากขึ้น ดังนั้นประชาชนจึงกดดันให้มีการปฏิรูป และแก้ปัญหานี้ อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้ง ยังไม่เร่งแก้ไข ประชาชนก็จะกดดันมากขึ้น แต่ถ้ารัฐบาลใหม่เดินหน้าแก้ปัญหาจริงจัง เชื่อว่าปัญหาจะแก้ไขได้โดยเร็ว" นายธนวรรธน์ กล่าว