เนื่องจากกลุ่มเห็นว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาลในวันที่ 22 ม.ค.นั้น ถือว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (4) ว่าด้วยการไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะผลต่อการเลือกตั้ง และต้องไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)กำหนด เพราะหลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศให้ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วนั้น จะมีผลทำให้การชุมนุมของฝ่ายที่เห็นต่างกับรัฐบาล คือ ลุ่มประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.)ต้องมีการยุติการชุมนุม หรือเลิกการวิพากษ์วิจารณ์ในพฤติกรรมของรัฐบาล
นอกจากนี้ การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่เข้าข่ายรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ที่ระบุว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ก่อการให้ผู้อื่นกระทำการที่ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และได้มาซึ่งส.ว.หรือระเบียบหรือประกาศของ กกต.ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม และถ้าการกระทำของบุคคลดังกล่าวมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็นแต่ไม่ได้ยับยั้งหรือแก้ไข ให้ถือว่าเป็นการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองที่ไม่ได้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68
ทั้งนี้ การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้นเห็นชัดว่า ครม.ที่ร่วมประชุมล้วนเป็นบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.ของพรรคเพื่อไทยทั้งสิ้น อาทิ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม, นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นต้น