โจทย์แรก หากมีสถานการณ์หรือความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ หรือเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากวันที่ 2 ก.พ.57 นั้นจะสามารถกระทำได้หรือไม่ ประเด็นคือ รัฐบาลเห็นว่ามีพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฏ.)การเลือกตั้งเดิมอยู่แล้ว จึงไม่สามารถออก พ.ร.ฎ.ซ้ำได้ ดังนั้นศาลฯ ต้องตัดสินว่าการที่มี พ.ร.ฏ.เดิมอยู่แล้ว จะสามารถออก พ.ร.ฏ.ใหม่เพื่อยกเลิกฉบับเก่าได้หรือไม่ ซึ่งกรณีนี้ศาลฯ จะต้องวินิจฉัยก่อนว่าได้หรือไม่ได้
หากศาลฯ วินิจฉัยว่าทำได้ โจทย์ต่อมา คือ ใครจะเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งอาจจะมีคำตอบออกมาได้ 3 ทาง คือ 1.รัฐบาลดำเนินการ 2. กกต.เป็นผู้ดำเนินการ และ 3.ขอให้มีการปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างรัฐบาล กับ กกต.
ทั้งนี้ หากศาลฯ วินิจฉัยให้รัฐบาลดำเนินการ รัฐบาลก็ต้องเป็นผู้ตัดสินใจเอง เท่ากับว่าศาลฯ เปิดประตูทางเลือกที่ 2 ให้แก่รัฐบาล จากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลมีเพียงประตูเดียว คือ การเดินหน้าจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. ซึ่งหากศาลฯ ตัดสินว่าสามารถเลื่อนการเลือกตั้งได้ ก็เท่ากับว่าศาลฯ เปิดประตูอีกทางให้แก่รัฐบาล
"รัฐบาลต้องคิดเองว่าจะเลือกเข้าประตูหนึ่ง หรือประตูสอง ถ้ารัฐบาลเดินเข้าประตูหนึ่งตามเดิมทั้งๆ ที่มีประตูสองด้วย ปัญหาต่างๆ และความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมานั้น รัฐบาลก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ" นายสมชัย กล่าว
อย่างไรก็ดี หากศาลฯ วินิจฉัยให้ กกต.เป็นผู้ดำเนินการ ก็เป็นหน้าที่ที่ กกต.จะต้องมาประชุมกันว่าจะตัดสินใจอย่างไรในสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ แต่หากศาลฯ วินิจฉัยให้รัฐบาลและ กกต.ไปปรึกษาหารือร่วมกัน ก็คงต้องมีการนัดหมายร่วมกันโดยเร็วที่สุด
นายสมชัย กล่าวว่า กกต.ยังไม่ได้มีการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ว่าจะเป็นวันที่ 4 พ.ค.57 ตามที่มีข่าวออกมาก่อนหน้านี้ แต่กำหนดวันดังกล่าวนั้น เป็นเพียงตุ๊กตาที่ยกขึ้นมาตามกรอบเวลาในกฎหมายที่ระบุว่าจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ไม่เกิน 180 วันหลังจากวันที่ประกาศยุบสภา ซึ่งหากนับตามกำหนดก็จะตกอยู่ในช่วงต้นเดือนพ.ค.
"ยังไม่ใช่มติจาก กกต. เป็นเพียงกรณีที่เห็นว่า ถ้าจะเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป สามารถทำได้ไกลสุดคือตามกรอบของพระราชกฤษฎีกาตัวเดิมคือ ต้องไม่เกิน 180 วันหลังจากยุบสภา ดังนั้นเมื่อนับไปแล้วก็จะตกในช่วงต้นเดือนพ.ค." นายสมชัย กล่าว