ส่วนกรณีที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง เสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป 3 เดือนนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 ที่กำหนดให้เลือกตั้งภายใน 60 วัน หลังจากประกาศยุบสภา เพื่อไม่ให้ประเทศถูกแช่แข็งนานเกินไป และหากเลื่อนการเลือกตั้งออกไปนานอาจส่งผลให้ช่วงปี 2557 ประเทศจะไม่มีรัฐบาลโดยสมบูรณ์ที่มีอำนาจบริหารประเทศโดยไม่มีข้อจำกัด
นายพิชิต กล่าวว่า การหารือกันระหว่างนายกรัฐมนตรีกับ กกต.ที่จะมีขึ้นนั้นอยากให้ กกต.เชิญทุกพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งมาร่วมหารือด้วยว่าจะเลื่อนเลือกตั้งไปเป็นวันใด เพื่อไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติกับทุกพรรค ซึ่งจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดย กกต. ต้องตอบให้ได้ว่า ค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปแล้วจะทำอย่างไร หากเลื่อนการเลือกตั้งจะให้ความมั่นใจได้อย่างไรว่า การเลือกตั้งจะไม่มีการขัดขวางอีก ขณะที่นายกรัฐมนตรีก็ต้องคำนึงถึงความเสียหายทางจิตใจของประชาชนที่อยากไปเลือกตั้งด้วย ทั้งนี้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นแค่การให้ความเห็นในข้อกฎหมายว่า สามารถเลื่อนการเลือกตั้งได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีและ กกต.ไปคุยกัน ถ้าสองฝ่ายเห็นตรงกันว่า ควรเลื่อนก็เลื่อน แต่ถ้าสองฝ่ายเห็นว่า ไม่ควรเลื่อนก็ไม่จำเป็นต้องเลื่อนการเลือกตั้งได้
ขณะที่นายโภคิน พลกุล คณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มีความสงสัยว่าประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ไม่ใช่เรื่องข้อขัดแย้งระหว่างองค์กร เป็นเพียงการหารือข้อกฎหมาย ศาลจึงไม่มีอำนาจรับคำวินิจฉัย และเมื่อศาลบอกว่า เป็นเรื่องข้อขัดแย้งระหว่างองค์กร แต่กลับไม่เชิญผู้เกี่ยวข้องคือรัฐบาลไปชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ