สำหรับโมเดลที่วางไว้เบื้องต้นในการปฏิรูปการเลือกตั้งนั้น จะจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 8-10 คน ซึ่งมาจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการเลือกตั้งทั้งฝ่ายของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.), กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ตลอดจนพรรคการเมืองต่าง ๆ และนักวิชาการ
คณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวจะวางแนวทางปฏิบัติร่วมกันเพื่อคัดนักการเมืองที่ดีเข้าสู่การเมืองไทย เพื่อช่วยให้ประเทศมีทางออก เช่น การหาเสียงเลือกตั้งในรูปแบบที่ใช้เงินน้อย-ทุนต่ำ, การวางนโยบายหาเสียงที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง ไม่ใช่ลักษณะของการสัญญาว่าจะให้, แนวทางการจำกัดการทุจริตหาเสียงเลือกตั้งอย่างเป็นรูปธรรม และการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นหูเป็นตาในการจัดการเลือกตั้งได้ เป็นต้น
นายสมชัย กล่าวว่า การวางแนวทางปฏิรูปการเลือกตั้งคาดว่าจะใช้เวลาทำงานราว 1-2 เดือน จากนั้น กกต.จะนำข้อสรุปที่ได้มาออกเป็นคำสั่งหรือประกาศภายใต้อำนาจของ กกต.เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ใหม่สำหรับการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางการปฏิรูปการเลือกตั้งที่มาจากความเห็นและการตกผลึกร่วมกันจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
"หากคณะกรรมการชุดนี้คิดเสร็จภายใน 1-2 เดือน กกต.ก็จะรับช่วงทันที และจะใช้กลไกของ กกต.ออกเป็นประกาศหรือคำสั่ง แต่จะไม่ใช่การแก้กฎหมาย ซึ่งจะเป็นการออกประกาศหรือคำสั่งภายใต้อำนาจของ กกต.เองที่ทำได้ว่าประชาชนและทุกภาคส่วนอยากให้การจัดการเลือกตั้งออกมาเป็นอย่างไร จะได้เกิดการยอมรับต่อการเลือกตั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้น...แค่เป็นการปฏิรูปเล็กๆ ก่อนการเลือกตั้ง โดยใช้อำนาจที่มีอยู่ของ กกต.เป็นกลไกในการจัดการ" นายสมชัย กล่าว
อนึ่ง วานนี้(27 ม.ค.)นายสมชัย ระบุว่า กกต.เตรียมจะเสนอให้รัฐบาลออก พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ โดยกรอบเวลาที่เหมาะสมที่จะกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ คือไม่เกิน 6 เดือนนับจากวันที่ 2 ก.พ.57 เพื่อเป็นการรักษาสมดุลระหว่างการที่ไม่ทำให้รัฐบาลต้องอยู่ในสถานะของการรักษาการที่นานจนเกินไป ขณะเดียวกันต้องทิ้งช่วงเวลาให้เพียงพอ เพื่อจะให้ความขัดแย้งในสังคมคลี่คลายลงได้บ้าง