"เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป" ที่เกิดจากองค์กรวิชาชีพทุกภาคส่วนกว่า 60 องค์กร ได้แก่ ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ ภาควิชาชีพ ภาคประชาสังคม ภาคข้าราชการ สื่อมวลชน กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ เรียกร้องให้ทุกฝ่าย และขอแสดงเจตน์จำนงเพื่อร่วมกันแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งเพื่อให้สังคมไทยเดินหน้าต่อไปได้ ดังนี้
1.ขอให้ทุกฝ่ายหยุดความรุนแรง การยั่วยุ ลดการเผชิญหน้า และการส่งเสริมให้เกิดความเกลียดชัง ระหว่างประชาชนและผู้มีความเห็นต่าง โดยขอให้เคารพเจตนารมย์ของประชาชน กลุ่มที่เรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งก่อนการปฏิรูป และประชาชนที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้ง
2. เริ่มต้นเจรจาเพื่อทางออกประเทศ เพราะไม่มีความขัดแย้งใดในโลกที่หาทางออกได้โดยปราศจากการเจรจา ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเดินหน้าไปได้หรือไม่ก็ตาม คู่กรณีความขัดแย้งและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเจรจาเกี่ยวกับการปฏิรูปโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลไก องค์กร ที่มาของตัวแทนจากประชาชน เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มมีส่วนร่วม
3. เดินหน้าปฏิรูปทันที เริ่มจากช่วยกันปกป้องวาระการปฏิรูปประเทศ มิให้ถูกลดความสำคัญลงภายใต้บรรยากาศการเผชิญหน้าของฝ่ายต่างๆ และมิให้ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศถูกซุกไว้ใต้พรมและสูญเสียโอกาสของการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนและควาเห็นพ้องร่วมกันเรื่องการปฏิรูป นอกจากนี้ "เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป" ยังอาสาร่วมสร้างเวทีกลาง-พื้นที่การมีส่วนร่วมเพื่อให้ทุกฝ่ายนำเสนอความเห็นแลกเปลี่ยนเพื่อรวบรวมประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูป โดยไม่รวมศูนย์รวบอำนาจ
"เราเห็นว่า การเลือกที่อยู่ข้างใดแล้วมองไม่เห็นความต้องการของประชาชนอีกข้างหนึ่งนั้นมีข้อจำกัด สิ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ยั่งยืน คือ การเลือกแนวทางที่ทุกฝ่ายยอมรับได้และสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้จริง"นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ระบุ
สำหรับ องค์กรวิชาชีพภาคส่วนต่างๆ ที่เป็นแนวร่วม"เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป" อาทิ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI), Human Right Watch, FTA Watch, องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย), หอการค้าไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย, สภาธุรกิจตลาดทุนไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.), สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น