"เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป" ที่เกิดจากองค์กรวิชาชีพทุกภาคส่วนกว่า 60 องค์กร ได้แก่ ภาคธุรกิจ ภาคการเมือง ภาควิชาการ ภาควิชาชีพ ภาคประชาสังคม ภาคข้าราชการ สื่อมวลชน กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ อาทิ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI), Human Right Watch, FTA Watch, องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย), หอการค้าไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย, สภาธุรกิจตลาดทุนไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.), สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีตัวแทนจาก 2 พรรคการเมืองคือพรรคเพื่อไทย และ พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นด้วย เป็นต้น
โดยเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทุกฝ่าย และขอแสดงเจตน์จำนงเพื่อร่วมกันแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งเพื่อให้สังคมไทยเดินหน้าต่อไปได้ ดังนี้
1.ขอให้ทุกฝ่ายหยุดความรุนแรง การยั่วยุ ลดการเผชิญหน้า และการส่งเสริมให้เกิดความเกลียดชัง ระหว่างประชาชนและผู้มีความเห็นต่าง โดยขอให้เคารพเจตนารมย์ของประชาชน กลุ่มที่เรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งก่อนการปฏิรูป และประชาชนที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้ง
2. เริ่มต้นเจรจาเพื่อทางออกประเทศ เพราะไม่มีความขัดแย้งใดในโลกที่หาทางออกได้โดยปราศจากการเจรจา ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเดินหน้าไปได้หรือไม่ก็ตาม คู่กรณีความขัดแย้งและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเจรจาเกี่ยวกับการปฏิรูปโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลไก องค์กร ที่มาของตัวแทนจากประชาชน เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มมีส่วนร่วม
3. เดินหน้าปฏิรูปทันที เริ่มจากช่วยกันปกป้องวาระการปฏิรูปประเทศ มิให้ถูกลดความสำคัญลงภายใต้บรรยากาศการเผชิญหน้าของฝ่ายต่างๆ และมิให้ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศถูกซุกไว้ใต้พรมและสูญเสียโอกาสของการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนและควาเห็นพ้องร่วมกันเรื่องการปฏิรูป นอกจากนี้ "เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป" ยังอาสาร่วมสร้างเวทีกลาง-พื้นที่การมีส่วนร่วมเพื่อให้ทุกฝ่ายนำเสนอความเห็นแลกเปลี่ยนเพื่อรวบรวมประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูป โดยไม่รวมศูนย์รวบอำนาจ
"เราเห็นว่า การเลือกที่อยู่ข้างใดแล้วมองไม่เห็นความต้องการของประชาชนอีกข้างหนึ่งนั้นมีข้อจำกัด สิ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ยั่งยืน คือ การเลือกแนวทางที่ทุกฝ่ายยอมรับได้และสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้จริง"นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ระบุ
นายกิตติพงษ์ กล่าวว่า เครือข่ายอาจจะไม่ได้เป็นเวทีกลาง แต่จะเป็นสิ่งที่ช่วยค้นหาทางออกเพื่อไม่ให้สังคมเดินหน้าไปสู่ความเกลียดชัง และความรุนแรง
ด้านนายบัณฑูร เศรษฐ์ศิโรตม์ สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเด็นของการปฏิรูปที่เครือข่ายฯ หารือและตกผลึกร่วมกันระดับหนึ่ง มี 3 เรื่อง คือ 1.ปฏิรูปการเมือง ทั้งการเข้าสู่อำนาจและการใช้อำนาจ, 2.การกระจายอำนาจ และ 3.การต่อต้านการคอร์รัปชั่น เบื้องต้นคาดว่าภายใน 1 เดือนนับจากนี้จะมีการจัดเวทีเพื่อรับฟังข้อเสนอของการปฏิรูปทั้ง 3 เรื่อง
ขณะที่นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ากลุ่มที่คิดว่าควรมีการเลือกตั้งก่อนการปฏิรูป และกลุ่มที่คิดว่าควรมีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ถือเป็นความคิดที่ชอบธรรม แต่สิ่งที่จะเป็นทางออกตอนนี้คือการไม่ใช้ความรุนแรง
สำหรับการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 2 ก.พ.ที่หลายฝ่ายเป็นห่วงเรื่องความขัดแย้งที่รุนแรงจนเกิดการเผชิญหน้า ตนมองว่ามีทางออกที่ไม่ทำให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น คือ การออกไปเลือกตั้งและทำบัตรเสีย ตามข้อเสนอของนายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ที่ระบุว่าให้ทำเครื่องหมายกากบาทซ้ำกัน 2 รอบ ในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน (Vote No) แต่ทั้งนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องพิจารณาและออกหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการทำบัตรเสียดังกล่าวว่าเป็นการแสดงสิทธิ์ของผู้ที่คัดค้านการเลือกตั้ง
"พรรคเพื่อไทย ต้องการให้คนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่คนที่ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งควรจะถูกนับด้วย ซึ่งตามสถิติการเลือกตั้งรอบที่ผ่านมา มีบัตรเสีย มากถึง 1.3 ล้านใบ ส่วนบัตร Vote No มีเพียง 6 แสน-7แสนใบ ดังนั้นคนที่ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งต้องทำอย่างไร ผมมองว่าหากไปใช้สิทธิ์ และไม่ลงคะแนน หรือทำบัตรเสียจึงสอดคล้องข้อเสนอของกปปส. และรัฐบาลที่สุดและเป็นตัวเลือกที่ลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้" นายชัยวัฒน์ กล่าว
นายชัยวัฒน์ กล่าวด้วยว่า การเจรจาเพื่อลดความขัดแย้งรุนแรงไม่ใช่นำตัวพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯและ รมว.กลาโหม และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) มานั่งเจรจากัน เพราะเชื่อว่าเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปไม่ได้มีอำนาจหรือบารมีมากพอ แต่หากมีการเสนอทางเลือกอื่นให้กับมวลชนของกลุ่มสีต่างๆ พิจารณาบนพื้นฐานความเชื่อว่ามวลชนดังกล่าวเป็นผู้มีสติและปัญญา จะทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้
"ผมเชื่อว่าผู้นำมวลชนต้องฟังเสียงของประชาชนที่มาดำเนินชีวิตบนถนน ผมเชื่อว่ามีความเห็นที่หลากหลายไม่ได้คล้อยตามผู้นำอย่างเดียว ดังนั้นอย่ายึดติดกับวิธี เราคุยได้แบบฉันท์มิตร มีมิตรภาพฐานะความเป็นพลเมืองร่วมกันได้"
นายวิฑูรน์ เลื่อนจำรูญ มูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า ในเมื่อคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายต่างมีความต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งภาคประชาชนที่ตื่นตัวให้เดินหน้าปฏิรูปเช่นกัน เวทีนี้จึงได้นำเสนอให้มีการเจรจาหาทางออกร่วมกัน ทั้งนี้ในวันเลือกตั้ง 2 ก.พ. ทุกฝ่ายควรเคารพสิทธิของผู้ไปเลือกตั้งและผู้ไม่ต้องการเลือกตั้ง โดยต้องหาทางออกไม่ให้มีการเกิดการทำร้าย เห็นควรให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมทั้งสองฝ่าย เพื่อแก้ปัญหาการเผชิญหน้า และขอให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ภาครัฐต้องดูแลปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยให้ประชาชน และทุกคนต้องออกมาช่วยกันส่งเสริมไม่ให้เกิดความรุนแรงทุกรูปแบบ
ส่วนนางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าเจรจากันด้วยสันติวิธี ปราศจากความรุนแรง หยุดพูดเรื่องกฎหมายเอาไว้ก่อน อย่าเอาเรื่องกฎหมายขึ้นมาเป็นประเด็นหลัก แต่ขอให้คู่ขัดแย้งเปิดใจว่าต่างฝ่ายต่างอยากได้อะไร แล้วหาทางออกร่วมกัน ในฐานะคนไทย เพื่อคนไทย
นางปิยะมาน กล่าวต่อว่า ผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวในไตรมาสแรกลดลงจากที่ตั้งเป้าไว้ว่าในไตรมาสแรกของปี 57 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาประเทศไทย 7.5 ล้านคน คาดว่าจะหายไปประมาณ 1 ล้านคน เหลือ 6.5 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าที่จะหายไปประมาณ 5 หมื่นล้านบาท แต่เราก็ยังหวังว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้บรรยากาศต่างๆจะดีขึ้น จึงยังคงเป้าหมายตัวเลขนักท่องเที่ยวปีนี้ที่ 29.5 ล้านคน หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 1.3 ล้านล้านบาท
นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ตัวแทนประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ผู้สูญเสียบุตรชายคือน้องเฌอ นายสมาพันธ์ ศรีเทพ นักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมที่ซอยรางน้ำเมื่อปี 2553 กล่าวว่า ขอแนะนำกลุ่มกปปส. ว่าวิธีการคัดค้านการเลือกตั้งที่ดีที่สุดคือไปเลือกตั้ง เพื่อโหวตโน เพราะเป็นการต่อต้านการเลือกตั้งที่เป็นอารยะที่สุด และให้คะแนนสูงกว่าพรรคเพื่อไทย เพื่อเป็นคะแนนชี้วัดว่าประชาชนของประเทศเห็นด้วยกับแนวทางนี้ และนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างถูกต้องในอนาคต แต่หากคนอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ไปเลือกตั้ง อาจถูกตีความในทางที่ผิด ทั้งนี้โดยส่วนตัวก็จะไปเลือกตั้ง แต่ไม่โหวตพรรคเพื่อไทย เนื่องจากเป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้งของบ้านเมือง ที่ได้เสนอพ.ร.บ.นิรโทษกรรม แบบเหมาเข่ง และยังเป็นการตัดตอนกระบวนการยุติธรรมที่จะสืบหาความผิดจากเหตุการณ์ทางการเมืองในอดีต
ด้านน.ส.จารุพรรณ กุลดิลก อดีต ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคจะส่งสัญญาณไปยังกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ที่มีแผนจะเดินรณรงค์ให้ประชาชนออกไปเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.นี้ ว่าขอให้ออกมาชุมนุมด้วยความสงบ ปราศจากความรุนแรง ให้ประชาชนได้ใช้สิทธิ์ออกเสียงตามระบอบประชาธิปไตย อย่ามีกิจกรรมที่จะขัดต่อกฎหมายการเลือกตั้ง คนเสื้อแดงที่เรียกร้องประชาธิปไตยอยู่แล้วยิ่งต้องแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ที่เข้าใจกฎหมายการเลือกตั้ง เพื่อให้วันเลือกตั้งเป็นวันที่ศักดิ์สิทธิ์ในความรู้สึกของผู้ที่เรียกร้องประชาธิปไตย
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จะรวบรวมข้อมูลความเห็นจากทุกภาคส่วนกลับไปนำเสนอพรรค ในฐานะเป็นคนที่ทำงานด้านวิชาการมาก่อน มีความเข้าใจเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของทุกฝ่ายซึ่งกลั่นกรองมาจากความรู้สึกอึดอัด ความทุกข์ของประชาชนจริงๆ
"ถ้าเราเห็นว่ามีความทุกข์ร่วมกันตรงไหน น่าจะจัดลำดับความสำคัญและทำให้เป็นนโยบายของพรรคการเมืองไทยได้ อาจจะไม่ใช่เป็นการปฏิรูปแค่ในโครงสร้างของรัฐบาลเท่านั้น แต่ว่าในส่วนของพรรคการเมืองก็มีความสำคัญที่จะสามารถบอกตัวเองได้ว่าเป็นพรรคการเมืองของประชาชนจริงๆ เพื่อให้ทุกฝ่าย WIN WIN ด้วยกันทั้งหมด ท้ายที่สุดคือคนไทยทั้งประเทศได้ประเทศทั้งหมด"