"การตัดสินใจบอยคอตการเลือกตั้งก็เป็นเรื่องน่าละอายอยู่แล้ว การเดินหน้าไปทำให้การเลือกตั้งซึ่งประชาชนเกือบทั้ง 50 ล้านคนไปลงคะแนนให้เป็นโมฆะซ้ำอีก ถือว่าเป็นการกระทำที่ประชาชนจะไม่ให้อภัย เพราะเขาหวงแหนสิทธิและสำนึกในหน้าที่ของตน...พรรคประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์ ไม่รู้สึกสำนึกและละอายใจบ้างเลยหรือว่าการเลือกตั้ง 2 ก.พ.จะมีปัญหาเพราะพรรคการเมืองใด หรือกลุ่มมวลชนที่จัดตั้งโดยใคร"นายนพดล กล่าว
นายนพดล กล่าวต่อว่า นายอภิสิทธิ์เคยเรียกร้องให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยุบสภา แต่เมื่อยุบสภาพรรคประชาธิปัตย์กลับมีมติบอยคอตการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่รับเงินภาษีประชาชนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไปสนับสนุนกิจการพรรค และเมื่อมีการเปิดรับสมัครก็มีกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ไปขัดขวางไม่ให้พรรคการเมือง 50 กว่าพรรคลงสมัครได้ทั้งในกรุงเทพและในจังหวัดภาคใต้
"คนทั้งประเทศรู้ว่ากลุ่ม กปปส. จัดตั้งโดยอดีตรัฐมนตรีและแกนนำของพรรคการเมืองใด และเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในฐานเสียงของพรรคการเมืองใด และเมื่อมีการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อ 26 ม.ค.ก็มีการขัดขวางการเลือกตั้ง ผมขอถามว่านายอภิสิทธิ์รู้สึกเช่นไรกับเหตุการณ์การปล้นสิทธิประชาชน"นายนพดล กล่าว
ส่วนการนำเรื่องที่พบนางคริสตี้ เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยแล้วนำมาพูดว่าต่างชาติเห็นว่าไม่อยากให้เกิดความรุนแรง คนไทยที่รักประชาธิปไตยต้องขอบคุณสหรัฐอเมริกาที่มีท่าทีชัดเจนว่าการปิดกั้นการเลือกตั้งเท่ากับการละเมิดสิทธิสากลของประชาชน ต้องขอบคุณมิตรประเทศ เช่น อียู จีน ออสเตรเลีย ที่สนับสนุนสันติวิธีในประเทศไทย รัฐบาลต้องการเห็นการเลือกตั้งเป็นไปโดยเรียบร้อยและสันติ
"รัฐบาลจะใช้ความรุนแรงกับประชาชนไปทำไม คนไทยรู้ว่าใครที่ต้องการใช้ความรุนแรงเพื่อล้มการเลือกตั้ง และไม่มีคนกลุ่มใดหรือพรรคการเมืองใดสามารถขัดขวางการใช้สิทธิ์และการทำหน้าที่ของคนไทยที่รักประชาธิปไตย เพราะทั่วโลกจับตาอยู่"นายนพดล กล่าวฃ