อย่างไรก็ตาม หากศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่ส่งผลให้ต้องยุติการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตนเองก็พร้อมน้อมรับคำสั่งศาล แต่รัฐบาลได้เตรียมการรองรับไว้แล้ว และต้องรอดูว่านายกรัฐมนตรีจะมอบหมายให้ใครเป็นผู้ดูแลสถานการณ์ต่อไป ซึ่งส่วนตัวก็พร้อมทำหน้าที่ต่อ
"จะไปท้อแท้ไม่ได้ เป็นงานท้าทาย ผ่านงานนี้ไปได้ ผมเลิกเล่นการเมือง...นายกฯ ไม่เคยเลย กำลังใจก็ไม่ให้ โทรก็ไม่เคยเลย อยากรับสายใจจะขาด" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
ส่วนกรณีที่กลุ่ม กปปส.ปิดล้อมที่ทำการไปรษณีย์หาดใหญ่จนไม่สามารถเคลื่อนย้ายบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อไปยังพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้นั้น ร.ต.อ.เฉลิม ระบุว่า ตำรวจจะเป็นผู้รับผิดชอบหลัก แต่เบื้องต้นทราบว่าแม่ทัพภาคที่ 4 ก็พยายามที่จะเจรจาแล้วแต่ยังไม่เป็นผล จึงเป็นกังวลว่าคนไทยมุสลิมที่ออกมาใช้สิทธิและปิดถนนจะไม่ยินยอม และในอนาคตจะกระทบต่อปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ดังกล่าว จึงขอประณามนายสุเทพที่ทำให้เกิดความแตกแยก และพรรคประชาธิปัตย์จะปฏิเสธความรับผิดชอบในเรื่องนี้ไม่ได้ เนื่องจากในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นพื้นที่ของอดีต ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์
สำหรับความคืบหน้าในการเจรจากับแกนนำ กปปส.ไม่ให้ขัดขวางการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ แม้นายสุเทพจะปฏิเสธการพูดคุยแล้ว แต่ถือเป็นหน้าที่ของคณะผู้เจรจาที่จะหาทางแก้ไขต่อไป พร้อมฝากเตือนผู้ชุมนุมที่ขัดขวางการเลือกตั้งถือว่ามีความผิดโทษจำคุก 1-5 ปี ขณะเดียวกันเชื่อว่าการเลือกตั้งไม่เป็นโมฆะ เพราะได้ประกาศวันเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศแล้ว แต่หากจะมีปัญหาเลือกตั้งไม่ได้ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง
ด้านนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้สั่งการโดยตรงเป็นการภายในให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)จัดชุดดูแลรักษาความปลอดภัย ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยพิเศษที่จะอำนวยความสะดวกให้นายกรัฐมนตรี และครม.ที่จะเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้ง พร้อมทั้งได้ประสานกับทาง พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหมที่จะส่งทหารเข้าไปร่วมดูแลความปลอดภัยด้วย ซึ่งที่ผ่านมาผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.)เคยพูดมาก่อนแล้วว่ายินดีและสนับสนุนให้มีการเลือกตั้ง กรณีที่นายสุเทพท้าให้ไปร่วมดีเบตบนเวที กปปส.นั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ยินดีตอบรับ แต่นายสุเทพควรมอบตัวตามหมายจับในคดีกบฏก่อน