เรื่องต่อมา ศรส.ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนไปออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง เพราะนอกจากจะเป็นการใช้สิทธิแล้ว กฎหมายยังกำหนดให้เป็นหน้าที่ด้วย การไม่ไปใช้สิทธิจะทำให้ต้องเสียสิทธิบางประการตามกฎหมาย โดย ศรส.จะจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเข้าดูแลความเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนประจำทุกหน่วยเลือกตั้ง รวมทั้งจะมีชุดเคลื่อนที่เร็วเข้าแก้ไขสถานการณ์ตามความจำเป็นอีกด้วย โดยในวันที่ 2 ก.พ. ศรส.ได้จัดตั้งหน่วยพิเศษเพื่อให้ข้อมูลการจราจรและความปลอดภัยต่างๆ แก่ประชาชนที่หมายเลข 1599 ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังได้ประสานการปฏิบัติกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองทัพภาค ที่จะดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาชนทั่วประเทศด้วยแล้ว
"การที่ กปปส.ประกาศจะระดมคนออกมาชุมนุมในท้องถนนและปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งและสำนักงานเขตทั่วทั้ง กทม.ในวันที่ 2 ก.พ.นั้น ศรส.ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนอย่าได้ออกมาชุมนุม เพราะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทั้งกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน ประการสำคัญจะเป็นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของพี่น้องประชาชนด้วยกันกรณีการขัดขวางการเลือกตั้ง จึงไม่ใช่เรื่องการเมืองกับการเมือง แต่เป็นการขัดขวางสิทธิของประชาชนด้วยกัน" นายธาริต กล่าว
นายธาริต กล่าวว่า ศรส.ขอแจ้งเตือนประชาชนว่า การขัดขวางการเลือกตั้งเป็นความผิดที่ฉกรรจ์ มีโทษจำคุก 1 ปี ถึง 5 ปี ตามมาตรา 152 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ดังตัวอย่างเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดสมุทรสาครได้อนุมัติหมายจับดำเนินคดีกับผู้ไปขัดขวางการเลือกตั้งแล้วด้วย ซึ่งจะมีการดำเนินคดีกับทุกๆ รายที่ไปขัดขวางการเลือกตั้งภายในกำหนดอายุความ จึงขอร้องประชาชนอย่าได้ไปขัดขวางการเลือกตั้งตามคำชักชวนของ กปปส. เป็นอันขาด เพราะท่านจะมีความผิดติดตัวอย่างแน่นอน โดย ศรส.จะจัดเจ้าหน้าที่บันทึกภาพผู้กระทำผิดไว้ทั้งหมด รวมทั้งขอให้พี่น้องประชาชนที่พบเห็นการขัดขวางการเลือกตั้งถ่ายภาพไว้แล้วแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตลอดเวลา
เรื่องที่ 3 ศรส.ร่วมกับส่วนราชการต่างๆ พร้อมเปิดให้บริการประชาชน ขณะนี้ ศรส.กับส่วนราชการต่างๆ ที่ถูกปิดการให้บริการมาระยะหนึ่งจนเกิดความเดือดร้อนกับประชาชนอย่างมากนั้น นับแต่วันที่ 3 ก.พ.เป็นต้นไปจะได้ทยอยเปิดส่วนราชการให้กลับมาให้บริการประชาชนตามปกติได้เป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นบางสถานที่ที่อยู่ใจกลางการชุมนุมก็อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ทั้งนี้ ศรส.ร่วมกับส่วนราชการได้จัดเจ้าหน้าที่เป็นชุดรักษาความเรียบร้อยของสถานที่ในลักษณะชุดผสม ทั้งข้าราชการ ตำรวจ และทหาร ดูแลความเรียบร้อย และยังมีชุดเจ้าหน้าที่เคลื่อนที่เร็ว สนับสนุนในแต่ละแห่งด้วย
เรื่องที่ 4 การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเสียหายและความเดือดร้อนจากการชุมนุมของ กปปส. ซึ่ง ศรส.ได้รับรายงานว่ามีพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและความเสียหายจากการชุมนุมปิดกรุงเทพได้เข้าไปแจ้งลงบันทึกประจำวันตามสถานีตำรวจต่างๆ จำนวนมาก เพื่อจะได้นำบันทึกประจำวันไปใช้เป็นหลักฐานแสดงต่อธนาคาร บริษัท ห้างร้าน และคู่สัญญาต่างๆ ซึ่ง ศรส.ก็ขอขอบคุณธนาคาร บริษัท ห้างร้านและกลุ่มธุรกิจต่างๆ เป็นอย่างยิ่งที่ยินดีให้การช่วยเหลือผ่อนผันด้านต่างๆ แก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายจากการชุมนุมปิดกรุงเทพมหานครของ กปปส. และ ศรส.ขอแจ้งประชาชนท่านใดที่ยังไม่ได้ดำเนินการ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกสถานีตำรวจพร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
และเรื่องที่ 5 การขอศาลออกหมายจับแกนนำ กปปส.เพื่อดำเนินการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ศรส.จึงได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการขอหมายจับแกนนำ กปปส. ที่กระทำผิดกฎหมายต่อไป โดยได้ยื่นขออนุญาตศาลอาญาอีกครั้งหนึ่งเมื่อวานนี้ รวม 19 ราย โดยได้เสนอพยานหลักฐานต่อศาลอย่างครบถ้วนว่าหลังจากมีการประกาศใช้กฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว แกนนำ กปปส.ก็ยังคงกระทำผิดโดยการร่วมกันไปปิดล้อม กีดกัน ขับไล่ ไม่ให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างชัดแจ้ง และศาลอาญานัดไต่สวนคำร้องในวันนี้ตั้งแต่เวลา 09.00 น.เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ศรส.ได้สั่งการให้สถานีตำรวจทุกแห่งทุกท้องที่เร่งรัดดำเนินคดีกับบุคคลใดๆ ที่ไปทำการขัดขวางการเลือกตั้งทั้งในวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา และที่อาจเกิดการกระทำผิดในวันที่ 2 ก.พ.ด้วย
นายธาริต กล่าวถึงกรณีศาลแพ่งรับคำร้อง นายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส.ที่ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองชั่วคราวการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในช่วงบ่ายวันนี้ว่า หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทางศรส.จะมีการหารือในเรื่องนี้ ซึ่งหากมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเฉพาะเรื่องการใช้กำลังก็ถือว่าไม่มีปัญหาเพราะแนวทางปฏิบัติของ ศรส.ไม่มีการใช้กำลังอยู่แล้ว แต่หากมีการคุ้มครองทั้งหมดจะต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาว่าจะมีการยกเลิกการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือจะมีการยื่นอุทรณ์ต่อศาลเพื่อให้พิจารณาใหม่
นอกจากนี้ หากศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ก็มีแนวโน้มที่จะกลับไปใช้อำนาจตามพ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งในโครงสร้างยังคงรูปแบบ ศรส. เพียงแต่จะมีการปรับในเรื่องการออกหมายจับ จากเดิมที่สามารถออกหมายจับ ตามอำนาจพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ปรับเปลี่ยนเป็นการออกหมายจับตามป.วิอาญา ส่วนการสนธิกำลังนั้นยังทำดำเนินการได้เหมือนเดิม โดยใช้อำนาจผ่านพ.ร.บ.ความมั่นคงต่อไป