"วงเงินค่อนข้างสูง 1.3 แสนล้านบาท เป็นที่คาดหวังของชาวนาที่รายได้ไม่สูง เพราะมีความจำเป็นต้องใช้จ่าย มีตัวคูณ มีลูกโซ่ทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง พอไม่ได้เงินเราจะเห็นทันทีว่าปฏิกิริยาลูกโซ่จะหายไปด้วย มีผลกระทบด้านอุปโภค-บริโภค การใช้จ่ายในชนบทหลายๆ ที่แน่นอน" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ
พร้อมเห็นว่า ทางแก้ที่ดีที่สุดในขณะนี้คือรัฐบาลควรเร่งขายข้าวให้ได้เงินมาเพื่อใช้หนี้ให้แก่ชาวนาที่นำข้าวมาจำนำไว้ เพราะแม้การขายข้าวอาจจำเป็นต้องยอมขาดทุนบ้าง แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก่อนในขณะนี้คือปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการดำเนินธุรกิจแล้ว เมื่อธุรกิจขาดสภาพคล่องก็จะต้องขายสินทรัพย์ที่มีอยู่ เพื่อให้มีเงินไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ ดังนั้นในกรณีของรัฐบาลกับชาวนาก็เช่นเดียวกัน
"ถ้ามองในมุมการบริหารธุรกิจ วิธีแก้ที่ดีสุด คือการพยายามขายข้าวออก เอาข้าวแปลงเงินสดใช้คืนเจ้าของข้าวไป แม้จะประสบการขาดทุนบ้าง แต่เรากำลังพูดถึงเรื่องสภาพคล่อง ธุรกิจเอกชนในอดีตเคยประสบปัญหาเวลาเงินหมุนเวียนไม่เพียงพอ จำเป็นต้องขายทรัพย์สิน แม้จะขายได้ราคาที่ไม่สูงนักแต่จำเป็น เพื่อเอาชีวิตรอด เอาเงินสดมาใช้เจ้าหนี้ กรณีนี้ชาวนาก็คือเจ้าหนี้" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังส่งหนังสือเชิญให้ธนาคารทั้งของรัฐและเอกชนร่วมประมูลเพื่อปล่อยสินเชื่อสำหรับโครงการจำนำข้าว แต่พบว่าไม่ได้รับความสนใจจากธนาคารรายใดนั้น ผู้ว่าฯ ธปท. มองว่า แต่ละธนาคารอาจจะมีข้อติดขัดในทางกฎหมาย ซึ่งแต่ละธนาคารก็จะมีมุมมองและความเสี่ยงทางกฎหมายที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ ธปท.คงไม่เข้าไปดูแลในเรื่องนี้ เพราะเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์จะมีความสามารถในการพิจารณาและตัดสินใจเอง