ส่วนเขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครคนเดียวและได้คะแนนน้อยกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น หรือน้อยกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนนั้น กกต. ต้องประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยให้รับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตในเขตเลือกตั้งนั้นใหม่ (พ.ร.บ.เลือกตั้ง มาตรา 88)
นายพงศ์เทพ ระบุว่า ยังไม่มีความจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฏีกาใหม่ เพราะกกต.ยังไม่ได้มีการรับรองการเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อครบ 500 คน
"ในอดีตตั้งแต่มี กกต. และ กกต.ให้ใบเหลือง ใบแดงก่อนการประกาศผลว่าผู้สมัครคนใดได้รับเลือกตั้ง ก็ไม่เคยมีการตราพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ (กรณีการเลือกตั้งปี 2549 กกต. ประกาศว่าผู้สมัครคนใดได้รับเลือกตั้งแล้ว หลังจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพราะการลงคะแนนไม่เป็นความลับ จึงต้องมีการตราพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่) เมื่อ กกต. ประกาศว่าผู้ใดได้รับเลือกตั้งแล้ว ไม่มีการเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่ออีก ในสมัยของสภาชุดนั้น ส่วน ส.ส. แบบแบ่งเขตหากมีตำแหน่งว่าง เช่น ลาออกไป ถึงจะมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตของเขตนั้นแทนตำแหน่งที่ว่าง" นายพงศ์เทพ ระบุ
ส่วนกรอบเวลาการจัดการเลือกตั้งของกกต.จะต้องมีการจัดการเลือกตั้งให้มีส.ส.ครบอย่างน้อย 475 คนหรือร้อยละ 95 ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 2 ก.พ.หรือภายในวันที่ 4 มี.ค.57 เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 127 กำหนดให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก และมาตรา 93 วรรคหก กำหนดให้ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 95% ประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎรได้ (ในอดีตต้องได้ ส.ส. ครบจำนวนถึงจะเป็นสภาผู้แทนราษฎร กกต.ชุดก่อนๆก็สามารถจัดการเลือกตั้งให้ได้ ส.ส. ครบจำนวนมาตลอด)
สำหรับตำแหน่ง ส.ส.ที่ยังขาดอยู่ไม่ถึง 5% กกต ต้องจัดการเลือกตั้งให้ได้ครบทั้งหมดภายใน 180 วัน (รัฐธรรมนูญ มาตรา 93 วรรคหก)