และรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 และฉบับปี 50 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ที่บุคคลต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ก็ได้กำหนดให้มีกฎหมายลงโทษไว้ด้วย นั่นคือ การเสียสิทธิต่างๆ ในหลายกรณี เช่น การสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกหรือฝ่ายบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. การเป็นกรรมการในองค์กรอิสระ การเข้าชื่อถอดถอน และการเสนอร่างกฎหมาย
ดังนั้น จึงกำหนดให้มีการเลือกตั้งในต่างประเทศและการเลือกตั้งล่วงหน้า ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปจะมี 3 ช่วง คือ การเลือกตั้งในต่างประเทศซึ่งมีช่วงวันเลือกตั้งประมาณ 7-8 วัน แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละประเทศ, วันเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งกำหนด 1 สัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้ง และ วันเลือกตั้งทั่วไปตามที่ พ.ร.ฎ.กำหนด การเลือกตั้งทั่วไปที่ พ.ร.ฎ.กำหนดมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 40 จึงไม่เคยมีการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร เพราะมีวันสำหรับการเลือกตั้งในต่างประเทศ และวันเลือกตั้งล่วงหน้ามาโดยตลอด
ส่วนการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่อาจจัดให้มีการรับสมัครใน 28 เขต และการลงคะแนนในอีกหลายหน่วยเลือกตั้งนั้น มีสาเหตุหลัก 2 สาเหตุ คือ กกต.ไม่พยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ลุล่วง ทั้งที่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอย่างเต็มที่ และ มีกลุ่มอนาธิปไตยและพรรคการเมืองบางพรรคไม่ร่วมมือ กลับขัดขวางแม้ด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมาย เป็นเหตุให้การเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.57 ไม่อาจดำเนินการไปได้ เกิดจากความจงใจสร้างเหตุการณ์ทั้งหมด
ข้อที่น่าสังเกตคือ มีบุคคลหลายคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 อย่างต่อเนื่องว่าการกระทำของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) และแนวร่วม เข้าข่ายความผิดฐานกบฏ ต้องการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ พร้อมแสดงหลักฐานและข้อเท็จจริงมากมาย ตั้งแต่เดือน พ.ย.56 แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ยกคำร้องโดยไม่ไต่สวนไปหลายคำร้อง และบางคำร้องที่ยังคงอยู่ ก็ไม่เคยนัดไต่สวนจนกระทั่งบัดนี้ จึงได้แต่หวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะยึดหลักประชาธิปไตยและหลักรัฐธรรมนูญที่เป็นสากลโดยเคร่งครัด