พร้อมกล่าวว่า หากนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนกลางเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ถ้ายังมีการใช้รัฐธรรมนูญดังกล่าวอยู่ บุคคลใดก็ตามที่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาก็ต้องยึดเงื่อนไขในมาตรา 181 ทั้ง 3 วงเล็บ ซึ่งจะมีข้อจำกัดอยู่
"ฉะนั้นตามข้อเรียกร้องจากหลายฝ่ายที่ต้องการให้มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนกลาง เพื่อบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างเต็มที่นั้น มีทางเดียวที่จะทำได้คือ จะต้องฉีกรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เท่ากับว่าต้องการให้มีการปฏิวัติรัฐประหาร จึงให้ผู้เรียกร้องได้มีการพิจารณาและไตร่ตรองรัฐธรรมนูญดังกล่าวอย่างถ่องแท้ก่อน" นายพีรพันธุ์ กล่าว
ส่วนประเด็นที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่นั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้มีการหารือว่าในพื้นที่ 28 เขต ที่ยังไม่มีผู้สมัคร กกต.จะเสนอให้รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ในเขตที่เหลือ เนื่องจากยังไม่มีผู้สมัคร ซึ่งคาดว่า กกต.จะสามารถกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ และกำหนดวันลงคะแนนใหม่ได้ โดยการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไม่ต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาใหม่
ด้านนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ และกล่าวว่า สถานการณ์การชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ขณะนี้เริ่มเบาบางลง แต่ก็ยังคงมีขบวนการที่จ้องจะล้มล้างรัฐบาล เช่น กรณีที่มีการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง หรือที่หลายกลุ่มได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับตุลาการภิวัตน์(อำนาจตุลาการ) ที่จะมีการสรุปเกี่ยวกับเหตุการณ์ทั้งหมดในช่วงสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้รัฐบาลจะเชิญคณะทูตานุทูตจากประเทศต่างๆ มาร่วมรับฟังสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมประท้วงจนถึงขบวนการขัดขวางการเลือกตั้ง วันที่ 2 ก.พ.57 ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลจะชี้แจงให้คณะทูตานุทูตได้รับทราบถึงความจำเป็นในการจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) จนกว่าการเลือกตั้งในประเทศไทยจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ รวมทั้งเหตุการณ์และขบวนการที่จ้องล้มรัฐบาล โดยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพื่อให้สังคมโลกได้รับรู้และรวบรวมเป็นหลักฐาน