หลักคิด และการอธิบายความในปัญหาต่างๆ ในจดหมายเปิดผนึกเป็นข้อมูลที่รับรู้และรับทราบโดยทั่วไป ทั้งในเวทีระบบรัฐสภา ที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อรัฐบาล และมีการชี้แจงเสร็จสิ้นแล้ว รวมถึงเป็นข้อมูลที่มีการพูดจากัน ทั้งก่อนและหลังที่รัฐบาลได้ยุบสภา อีกทั้งเมื่อมีการชุมนุมก็ได้มีการนำข้อมูลที่ ม.ร.ว.ปรีดียาธร นำมาเผยแพร่ เวทีผู้ชุมนุม โดยกล่าวหาเป็นรายวันเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง
ซึ่ง ณ วันนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ก็กลับนำข้อมูลเดิมมานำเสนอซ้ำอีก ในลักษณะแผ่นเสียงตกร่อง ทั้งสิ่งที่นำเสนอนั้นมิใช่ข้อคิดเห็น หรือข้อมูลใหม่ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และต่อสถานะของรัฐบาลในปัจจุบัน ซึ่ง ม.ร.ว.ปรีดียาธร ในฐานะอดีตรองนายกรัฐมนตรีสายเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลยุคหลังรัฐประหาร กันยายน พ.ศ.2549 ได้เคยออกมาตรการควบคุมเงินทุนไหลออกจนตลาดหุ้นล่มถล่มทลายมาแล้ว ทราบดีว่ารัฐบาลนี้ได้ตัดสินใจคืนอำนาจให้กับประชาชนเพื่อตัดสินใจทางการเมืองในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยในการกำหนดอนาคตของประเทศโดยปราศจากการแทรกแซงหรือครอบงำทางความคิด ไม่ว่าจะเป็นโดยบุคคลหรือคณะบุคคลใดก็ตาม เพื่อให้สาธารณะได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง ผมขอถือโอกาสชี้แจงทำความเข้าใจในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
โครงการรับจำนำข้าว ดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2554 ต่อเนื่องมา 4 ฤดูการผลิต คือ 2554/55 (2) นาปี 2555/56 (3) นาปี 2555/56 และ (4) นาปรัง 2556/57 สามารถจ่ายเงินค่ารับจำนำแก่ชาวนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นจำนวนเงินกว่า 6 แสนล้านบาท จนมาถึงฤดูกาลนาปี 2556/57 ซึ่งได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการในวันที่ 3 ก.ย.56 และรับจำนำมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 สามารถช่วยจ่ายค่ารับจำนำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในช่วงต้นฤดูกาลและได้จ่ายเงินค่ารับจำนำไปแล้วเป็นจำนวนกว่า 6 หมื่นล้านบาท โดยไม่ได้ล่าช้า
แต่ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดจากฝ่ายค้านโดยทำให้การอนุมัติใช้งบประมาณประจำปีล่าช้า การบุกยึดกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ และ ส.ส. ฝ่ายค้านลาออกยกพรรค ซึ่งนำไปสู่การยุบสภาผู้แทนราษฎรทำให้รัฐบาลต้องปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมายในการจัดหาเงินเพิ่มขึ้น และมีขบวนการในการข่มขู่ทั้งสถาบันการเงินและส่วนราชการที่ทำให้การจัดหาเงินมีความล่าช้าแต่กระทรวงการคลังยังคงเดินหน้าที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามมติคณะรัฐมนตรี และกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องและรอบคอบ
ต่อประเด็นที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยกเรื่องคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวมากล่าวหานั้นไม่เป็นธรรม ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้น สิ่งที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร รวมทั้งกลุ่มผู้โจมตีโครงการนี้มิได้พูดถึงเลยคือมูลค่าของข้าวที่อยู่ในสต๊อก ซึ่งมีมูลค่าอยู่ในตัวเอง รวมทั้งส่วนต่างที่ขาดหายไปนั้นแท้จริงแล้วอยู่ในมือชาวนา
สำหรับนโยบายพลังงานทางเลือกตามยุทธศาสตร์พลังงาน(โครงการโซลาร์เซล) เป็นนโยบายที่ดำเนินการต่อเนื่องมาหลายรัฐบาล ซึ่ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร น่าจะทราบดีอยู่แล้วว่าขั้นตอนกระบวนการในการดำเนินนโยบายนี้นั้น เกี่ยวข้องกับหน่วยงานหลายหน่วยงาน ทำให้มีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานซึ่งท่านก็น่าจะเคยพบปัญหานี้มาก่อนในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลที่ผ่านมา โดยเฉพาะขั้นตอนในระดับปฏิบัติในการออกใบอนุญาต รง.4 ซึ่งรัฐบาลนี้ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อเดือนตุลาคม 2556 ที่ผ่านมานั้น ได้พยายามแก้ไขปัญหาการออกใบอนุญาตดังกล่าว โดยการขอยกเว้นจากกระทรวงอุตสาหกรรม แต่จำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ จึงต้องใช้เวลาในการดำเนินการ
ในประเด็นการปฏิรูปประเทศนั้น มิได้เป็นปัญหาในการสร้างกระบวนการในการมีส่วนร่วมระหว่างประชาชน สถาบัน องค์กร ต่างๆ หรือการยอมรับ รวมทั้งปัญหาความเชื่อมั่นต่อประเด็นการปฏิรูปการเมือง ตามที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวอ้าง แต่แท้จริงแล้วในเรื่องนี้เป็นประเด็นที่จำเป็นต้องทำความเข้าใจว่าการปฏิรูปการเมือง สามารถดำเนินการคู่ขนานพร้อมไปกับการเลือกตั้งโดยที่ไม่ต้อง "แช่แข็งประเทศ" อยู่กับการปฏิรูปการเมือง เพราะปัญหาของประเทศนั้นมีหลายมิติ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจมีลักษณะเป็นพลวัตรที่ไม่หยุดนิ่ง จำเป็นต้องมีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มเพื่อให้การบริหารราชการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
และในตอนนี้ประเทศไทยได้ก้าวไปข้างหน้าอีกก้าวหนึ่งจากความสำเร็จในการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งมีหน่วยเลือกตั้งเกือบร้อยละ 90 ที่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ และมีประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งถึงกว่า 20 ล้านคน แม้ว่าการยังมีหลายพื้นที่ที่ยังจัดการเลือกตั้งไม่ได้ แต่เชื่อว่าในท้ายที่สุด กกต. รวมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคมจะร่วมมือกันช่วยประคับประคองรักษาระบอบประชาธิปไตยเพื่อให้สามารถจัดการเลือกตั้งได้จนครบทุกเขต
การที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังยึดติดอยู่กับประเด็นเดิม ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับผู้ชุมนุมในลักษณะที่คล้ายจะเป็นแนวร่วม ด้วยท่าทีที่สิ้นหวังต่อระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนนั้น ไม่ต่างจากการไม่ให้ความเคารพต่อเจตนารมณ์ของประชาชนทั้ง 20 ล้านคนที่ออกมาเลือกตั้งที่อดทนและยืนหยัดอยู่ข้างหลักการประชาธิปไตย
สุดท้ายนี้ การที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร รวมทั้งผู้ชุมนุมที่มีข้อเรียกร้องในลักษณะเดียวกัน คือให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดทางให้มีคนกลางมาดำเนินการปฏิรูป ตลอดจนบริหารประเทศนั้น เห็นได้ชัดว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นการละเลยการยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนไม่คำนึงว่าการดำรงอยู่ของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีนั้น จะเป็นหลักประกันของการคงอยู่ซึ่งวิถีทางในระบอบประชาธิปไตยตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ทั้งยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อสังคมโลกว่าประเทศไทยมีระบอบการเมืองการปกครองที่เข้มแข็ง พลเมืองมีความเท่าเทียมกันภายใต้ระบอบประชาธิปไตย มีความอดทนพร้อมที่จะพัฒนาการเมือง การปกครองให้เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น