นายโภคินกล่าวว่า ปัญหาทั้งหมดเกิดจาก กกต.เอง ที่ไม่แก้ไขปัญหาให้ลุล่วงตั้งแต่แรก และเมื่อเลยระยะเวลาการรับสมัคร กกต.กลับไม่ใช้อำนาจหาสถานที่และขยายวันสมัครรับเลือกตั้งใหม่
“ยืนยันว่าเมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปแล้ว นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีไม่มีอำนาจหน้าที่ใดๆ เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่จะทูลเกล้าฯ เสนอให้ตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเลือกตั้งใหม่ ทั้งที่พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเลือกตั้งปัจจุบันยังมีผลใช้บังคับอยู่โดยสมบูรณ์ ซึ่งถ้าหากฝ่าฝืนกระทำไปโดยรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจ อาจสุ่มเสี่ยงที่จะกระทำผิดกฎหมายและไม่บังควรอย่างยิ่ง" นายโภคินกล่าว
นายโภคินได้หยิบยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในอดีตมาเทียบเคียงกับปัญหากรณี 28 เขตการเลือกตั้ง ใน 8 จังหวัดภาคใต้ที่มีปัญหาอยู่ เพื่อยืนยันว่าการจัดการเลือกตั้งเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.ตามรัฐธรรมนูญโดยตรง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยลักษณะนี้
ด้านนายชูศักดิ์กล่าวว่า ในกฎหมายรัฐบาลสามารถออกพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งได้ใน 3 กรณี คือ 1.เมื่อสภาผู้แทนราษฎรครบวาระ 4 ปี จึงต้องกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป 2.เมื่อมีการยุบสภาต้องอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 108 และ 3.เมื่อมีการเลือกตั้งแล้วมีตำแหน่งที่วางลง จากการถูกใบเหลือง หรือใบแดง ลาออก และเสียชีวิต แต่กรณีปัญหา 28 เขตเลือกตั้ง ไม่เข้าเงื่อนไขข้อกำหนด ตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่สามารถกระทำตามข้อเสนอของ กกต.ได้ เพราะคณะรัฐมนตรีไม่มีอำนาจและกฎหมายรองรับ แต่ควรเป็นหน้าที่ของ กกต.ในการดำเนินการดูแลและจัดการเลือกตั้งให้สมบูรณ์ต่อไป
ขณะที่นายคณินตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งนี้ เหตุใด กกต. ไม่ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ทำให้การเลือกตั้งมีปัญหา แต่กลับมาสร้างเงื่อนไขกับรัฐบาล ทั้งที่รู้ว่าหากรัฐบาลดำเนินการอาจมีความสุ่มเสี่ยง และจะมีผู้ไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้พระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง และการเลือกตั้งเป็นโมฆะ ซึ่งจะส่งผลเสียตามมาอีกมาก