โดยนายระวี ยืนยันว่า กลุ่มชาวนาไม่มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง แต่ชาวนาที่มาทุกคนต่างไดัรับความเดือดร้อนจริง และหากได้รับเงินก็ยินดีจะกลับบ้านทันที ซึ่งอยากได้ยินคำตอบจากรัฐบาลว่าจะสามารถจ่ายเงินให้กับชาวนาได้เมื่อใด
ด้านนายนิวัฒน์ธำรง ยืนยันว่า รัฐบาลมีความตั้งใจแก้ปัญหาให้ชาวนา แต่ติดขัดในข้อกฎหมาย ซึ่งต้องหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ดังนั้นจึงขอความเห็นใจจากชาวนาและขอให้ชาวนาเข้าใจ ทั้งนี้ตั้งแต่เดือนต.ค.56 รัฐบาลได้จ่ายเงินให้กับชาวนาทั้งหมดแล้ว และจนถึงขณะนี้จ่ายไปแล้ว 6 หมื่นล้านบาท และหากชาวนารายใดที่ยังไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าวให้ลงชื่อไว้ รัฐบาลจะเร่งรัดจ่ายเงินให้เร็วที่สุด
พร้อมระบุว่า ในเดือนพ.ย.56 ได้จ่ายเงินไปแล้วร้อยละ 63 แต่ในเดือนธ.ค.56 ยังไม่ได้จ่าย ซึ่งตัวเลขที่ค้างจ่ายได้มาถึงเดือนม.ค. และวันพรุ่งนี้(11 ก.พ.) จะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขอเบิกงบกลาง 712 ล้านบาทมาจ่ายให้ แต่จะต้องเสนอนำ กกต.ให้พิจารณาก่อน เพราะติดข้อกฎหมายตามพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ส่วนเงินค่าข้าวที่ค้างจ่ายในปี 2556/2557 จำนวน 1 แสน 1 หมื่นล้านบาทนั้น รัฐบาลพร้อมจ่าย แต่ติดที่ปัญหาการระบายข้าว และการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ที่มีกระบวนการขัดขวาง จึงขอให้กลุ่มชาวนาไปช่วยพูดกับธนาคารพาณิชย์ด้วย
ด้านนายวราเทพ ย้ำว่า รัฐบาลพยายามกู้เงินมาตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ติดขัดปัญหาข้อกฏหมาย และธนาคารไม่มีความมั่นใจที่จะปล่อยกู้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเจรจาผ่านไปไม่ถึง 1 ชม. พบว่าไม่ประสบผลสำเร็จ เมื่อตัวแทนจากรัฐบาลไม่สามารถให้คำตอบกับเกษตรกรได้ว่าจะนำเงินมาชำระได้เมื่อใด โดยพยายามอ้างถึงข้อจำกัดเรื่องข้อกฎหมาย ทำให้ตัวแทนเกษตรกรไม่พอใจเดินออกจากห้องประชุม และยุติการเจรจาทันที
ทั้งนี้ นายระวี ได้กล่าวก่อนเดินทางออกจากที่ประชุมว่า อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการขายข้าวไม่ว่าจะได้ราคาเท่าไรก็ตาม เพื่อนำเงินดังกล่าวมาจ่ายเงินค่าข้าวให้กับชาวนา พร้อมฝากว่า ในเมื่อรัฐบาลเป็นเพียงรัฐบาลรักษาการก็ควรหาแนวทางที่จะทำให้มีรัฐบาลที่มีอำนาจสมบูรณ์ เพื่อมาเร่งแก้ปัญหาโดยเร็ว ซึ่งเมื่อพูดจบ นายระวี และตัวแทนชาวนาทั้งหมดได้เดินออกจากห้องประชุมทันที
จากนั้นตัวแทนชาวนาได้ออกไปขึ้นรถขยายเสียง และประกาศต่อหน้าชาวนาว่า จะไม่ยอมให้รัฐบาลชุดนี้โกงเงินชาวนา โกงข้าวและแตะต้องข้าวของชาวนาอีก โดยหลังจากนี้จะระดมชาวนาจากทั่วประเทศให้ได้มากถที่สุด เพื่อยึดคลังข้าวทั่วประเทศ เพราะถือว่ารัฐบาลหมดความชอบธรรมในการควบคุมและขายข้าวในคลัง
หลังจากนั้น กลุ่มชาวนาได้เดินทางออกจากสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อกลับไปชุมนุมต่อที่กระทรวงพาณิชย์
จากนั้นรัฐมนตรีทั้ง 3 คนได้มีการแถลงข่าวร่วมกัน โดยนายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า ได้ชี้แจงให้ชาวนาได้ทราบถึงการจ่ายเงินว่าไม่ได้ค้าง 6 เดือนตามที่ข่าวนำเสนอ มีการจ่ายเงินไปแล้วบางส่วน และจากที่มีกระบวนการขัดขวางการกู้เงินอยู่ในขณะนี้ กระทรวงการคลังได้พยายามอย่างเต็มที่ ซึ่งก็เชื่อว่าอีกไม่นานจะได้ความร่วมมือและคำตอบที่ชัดเจน พร้อมขอเชิญชวนชาวนาให้ไปร่วมขอร้องกับบอร์ดและสหภาพธนาคารในการปล่อยกู้ให้นำเงินมาจ่ายค่าข้าวให้ชาวนาด้วย
สำหรับการการประชุม ครม.พรุ่งนี้ จะไม่มีการพิจารณาอนุมัติเงินงบกลาง 1,200 ล้านบาท มาชดเชยค่าดอกเบี้ย 0-9% ให้กับชาวนาที่นำใบประทวนไปจำนำกับโรงสีที่ร่วมดำเนินการ เพราะมองว่าโรงสีและธนาคารสามารถดำเนินการได้เลย ซึ่งพรุ่งนี้ ครม.จะมีเพียงการพิจารณาวงเงิน 712 ล้านบาท เพื่อจ่ายให้ชาวนาในโครงการรับจำข้าวในเดือน ก.ย.56 ที่ยังค้างอยู่จำนวนหนึ่งเท่านั้น เชื่อว่า กกต.จะให้ความเห็นชอบ และจะเร่งดำเนินการจ่ายเงินให้กับชาวนา
ด้านนายณัฐวุฒิ เปิดเผยว่า ได้รับการประสานจากชาวนากลุ่มหนึ่งว่าจะเข้ามาพูดคุยกับรัฐบาลวันพรุ่งนี้ (11 ก.พ.) โดยจะชี้แจงให้ชาวนาได้เข้าใจในข้อมูลต่างๆ ทั้งนี้เข้าใจเหตุผลของชาวนาที่มาชุมนุม แต่ไม่อยากให้มีการนำไปโยงกับประเด็นทางการเมือง โดยเฉพาะการให้รัฐบาลลาออกแล้วให้รัฐบาลใหม่เข้ามาทำหน้าที่แก้ปัญหาเรื่องการจ่ายเงินค่าข้าว ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีหลักประกันว่าหากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่นั้นจะต้องใช้เวลานานอีกเท่าไร
สำหรับข้อห่วงใยกรณีรัฐบาลจะไม่มีเงินชำระหนี้ธนาคาร หากรัฐบาลกู้เงินมาใช้จ่ายในโครงการรับจำนำข้าว และจส่งผลต่อกระทบต่อสภาพคล่องของธนาคารนั้น มองว่า ประเด็นนี้ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะยอดสินเชื่อที่รัฐบาลกู้นั้น รัฐบาลจะนำเงินต้นและดอกเบี้ยมาชำระแน่นอน
ด้านนายวราเทพ กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมแก้ปัญหาให้กับชาวนา แต่ติดขัดในเรื่องอำนาจหน้าที่ ไม่ใช่เป็นเพราะรัฐบาลหาเงินกู้ไม่ได้ ซึ่งล่าสุดได้รับแจ้งจาก รมว.คลัง ว่ามีสถาบันการเงินติดต่อมาและพร้อมจะปล่อยสินเชื่อโดยเร็ว แต่ไม่ขอระบุเป็นธนาคารใด พร้อมทั้งขอให้ทุกฝ่ายหันมาช่วยเหลือชาวนา ซึ่งหากเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นชาวนาได้รับผลกระทบโดยตรงก็ควรจะแสดงบทบาทและปรับทิศทางไปในแนวทางเดียวกัน ในการตัดสินใจและอนุมัติสินเชื่อให้กับรัฐบาล โดยขณะนี้ส่วนตัวเชื่อว่าธนาคารต่างๆ ยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลเพื่อให้เกิดความมั่นใจก่อนที่จะปล่อยสินเชื่อ