ศรส.รอเช็คข้อมูลรอบคอบก่อนกางชื่อท่อน้ำเลี้ยง-จัดชุดเคลื่อนที่เร็วขวางปิดหน่วยราชการ

ข่าวการเมือง Wednesday February 12, 2014 10:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) กล่าวถึงกรณีมีข่าวว่าศูนย์รักษาความเรียบร้อย(ศรส.) สั่งเบรคนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กรณีการออกมาเปิดเผยข้อมูลเรื่องบุคคลหรือกลุ่มทุนที่ให้การสนับสนุนม็อบ กปปส.ว่า คงไม่ได้เป็นการสั่งเบรค แต่เป็นการหารือร่วมกันภายในคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ตรวจสอบกรณีดังกล่าวแล้วว่า รายชื่อที่จะถูกเปิดเผยออกมาต้องเป็นข้อมูลที่มีความชัดเจนในการเชื่อมโยงหรือสนับสนุนการชุมนุมที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องมีความรอบคอบเพียงพอ
"พนักงานเจ้าหน้าที่ที่เราตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินการตรวจสอบเรื่องท่อน้ำเลี้ยงมีจำนวนมากถึง 90 กว่าท่าน ดังนั้นต้องมีความรอบคอบจากข้อมูลพื้นฐาน แค่เห็นการเชื่อมโยงการสนับสนุน อาจจะไม่เพียงพอ ซึ่ง 5 หน่วยงานต้องมาพิจารณาร่วมกัน ซึ่งต้องใช้ความรอบคอบ และใช้ระยะเวลา" พล.ท.ภราดร กล่าว

อนึ่ง คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วยกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจาก 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.), กรมสรรพากร, ตำรวจปราบปรามยาเสพติด เป็นต้น รวมแล้วกว่า 90 คน

เลขาธิการ สมช. ยอมรับว่า การเปิดเผยรายชื่อว่าบุคคลหรือกลุ่มทุนใดให้การสนับสนุนผู้ชุมนุมนั้นจำเป็นต้องมีความรอบคอบและใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก ซึ่งที่ประชุมศรส.ได้มีการหารือกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากอาจจะมีผลกระทบทางด้านจิตวิทยาย้อนกลับมาที่รัฐบาลด้วย

"ถ้าไม่รอบคอบ และไม่ชัดเจน การเปิดข้อมูลออกมาจะมีปฏิกิริยามุมกลับ ขณะเดียวกัน ถ้าข้อเท็จจริงชัดเจนก็คงไม่ต้องกังวลอะไร" พล.ท.ภราดร กล่าว

พร้อมระบุว่า ไม่ทราบในข้อเท็จจริงตามที่มีข่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม โทรศัพท์ไปขอให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการ ศรส.ชะลอการประกาศรายชื่อท่อน้ำเลี้ยงไว้ก่อน ส่วนรายชื่อที่หลุดออกมาสู่สาธารณะชนนั้น ไม่ทราบเช่นกันว่าหลุดออกมาได้อย่างไร แต่ก็ยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของรายชื่อที่กำลังตรวจสอบอยู่

เลขาธิการ สมช. กล่าวถึงกรณีการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ยังมีมุมมองไม่ตรงกันระหว่างคณะรัฐมนตรีกับ ศรส.ถึงความเข้มข้นและเอาจริงเอาจังมากกว่านี้ในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ชุมนุมเดินขบวนไปปิดล้อมสถานที่ราชการต่างๆ ว่า ขณะนี้มีความเห็นซึ่งเป็นข้อสรุปที่ตรงกันแล้วว่าเมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนไปปิดล้อมสถานที่ราชการใด ทางศรส.จะส่งทีมเจ้าหน้าที่เข้าไปเปิดสถานที่ดังกล่าวภายในไม่เกิน 1 ชม. รวมทั้งเพิ่มเติมยุทธวิธีในการใช้ชุดเคลื่อนที่เร็วเข้าไปจำกัดในระหว่างที่กำลังมีการเคลื่อนการชุมนุม รวมทั้งมีการเข้าจับกุมเพื่อไม่ให้มีการเคลื่อนไปได้โดยอิสระ

"ไม่ได้เห็นต่างกัน เพียงแต่เวลาที่ดำเนินการอาจจะไม่ทันใจ จึงเป็นข้อกังวลของครม.มา แต่ตอนนี้ปรับตรงกันแล้ว โดยเรามีมาตรการว่าเมื่อจะไปปิดที่ไหนก็ตาม ไม่เกิน 1 ชม.ชุดเคลื่อนที่เร็วก็ต้องไปจัดการเปิด ขณะเดียวกันจะเพิ่มยุทธวิธีว่า เมื่อม็อบเคลื่อนตัวไป เราจะจำกัดการเคลื่อนที่ และสามารถจับกุมคนบางส่วนหรือการ์ดที่กำลังเคลื่อนที่บางส่วน เพื่อไม่ปล่อยให้เคลื่อนไปโดยอิสระ ต้องมีการจับกุมในระหว่างที่ม็อบเคลื่อนตัว ตรงนี้เป็นมาตรการที่เรากำลังปรับยุทธวิธีเพื่อดำเนินการตามนั้น" เลขาธิการ สมช.กล่าว

อย่างไรก็ดี ชุดเคลื่อนที่เร็วเพิ่งมีการจัดตั้งขึ้น โดยได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมของ ศรส.ในครั้งก่อน ซึ่งหลังจากนี้ไปหากกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางไปปิดล้อมสถานที่ราชการเพิ่มเติม ก็จะมีการส่งชุดเคลื่อนที่เร็วเข้าไปดำเนินการตามยุทธวิธีที่วางไว้ โดยไม่ปล่อยให้สถานที่ราชการต้องถูกปิดเป็นเวลาหลายวันดังเช่นที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ