"โครงการรับจำนำข้าวนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างชีวิตใหม่ให้กับชาวนา และแม้ว่าชีวิตดิฉันจะต้องตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญา หรือรวมทั้งต้องถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง ตามความต้องการของผู้ล้มล้างรัฐบาลในปัจจุบัน แต่ดิฉันก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริง โดยดิฉันหวังว่าจะได้รับความยุติธรรมจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และหวังว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะยอมรับฟังคำชี้แจงและพยานหลักฐาน ของดิฉันให้เสร็จสิ้น ก่อนที่จะชี้มูลความผิดกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรมนั้น ย่อมต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาพิสูจน์ตัวเองเสมอ
ที่สำคัญหากไม่มีวาระซ่อนเร้นใดๆ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ไม่ควรรีบเร่ง รีบร้อน ในการไต่สวนและชี้มูลความผิดให้เป็นไปในลักษณะที่จะถูกสังคมกล่าวหาได้ว่า เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ประสงค์ล้มล้างรัฐบาล และหากจะเปรียบเทียบกับคดีอื่นๆ กลับได้รับโอกาสในการได้รับการอำนวยความยุติธรรมอย่างเต็มที่ นับแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับคำร้องที่มีการกล่าวหาในกรณีการทุจริตในโครงการระบายข้าว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการไต่สวน รวมทั้งคดีที่ยื่นและการค้างพิจารณาอยู่อีกเป็นจำนวนมากมาย เช่น กรณี ปรส.คณะกรรมการ ป.ป.ช. เองก็ต้องพิสูจน์ให้ชัดเจนต่อสาธารณชนว่าได้ใช้อำนาจของตนอย่างถูกต้อง เที่ยงธรรม และเป็นไปตามหลักนิติธรรม ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้วหรือไม่
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติให้ไต่สวนข้อเท็จจริงตามคำร้องของพรรคประชาธิปัตย์ และกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีเหตุควรสงสัย เรื่องการปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว โดยเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการตามอำนาจหน้าที่ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 57
ต่อมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ได้มีหนังสือสำนักงาน ป.ป.ช. ลงวันที่ 31 มกราคม 57 แจ้งเรื่องไต่สวนให้ทราบเรื่องการตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะเป็นองค์คณะไต่สวน และมอบหมายให้นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. และนายประสาท พงษ์ศิวาภัย เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยหนังสือที่แจ้งต่อดิฉันยืนยันว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ไต่สวน จะปฏิบัติต่อดิฉันให้ได้รับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอย่างเหมาะสมด้วยความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ นั้น
"ดิฉันก็เชื่อคำกล่าวอ้างในหนังสือของ ป.ป.ช. เพราะเมื่อคำนึงถึงตำแหน่งที่ดิฉันดำรงอยู่ คือในฐานะนายกรัฐมนตรี หัวหน้าผู้บริหารราชการแผ่นดิน ก็ย่อมควรที่จะได้รับการอำนวยความยุติธรรมตามสมควร กล่าวคือ การรับฟังพยานหลักฐานในเรื่องที่มีการกล่าวหาอย่างเพียงพอ แม้ไม่สิ้นกระแสความในขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหา และแม้กฎหมายจะระบุให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการโดยเร็วแต่ก็ไม่ควรเร่งรีบเร่งร้อน เพื่ออำนวยความยุติธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหา"
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า การทำงานในฐานะนายกรัฐมนตรี และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ถือเป็นการทำงานในระดับนโยบาย ส่วนในระดับปฏิบัติการเช่นเดียวกับโครงการอื่นๆ ที่มีการกำหนดโครงสร้างการทำงานขั้นตอนและกระบวนการปฏิบัติ เพื่อรับจำนำและระบายข้าว โดยมีหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบการปฏิบัติการให้เป็นไปตามนโยบาย
ทั้งนี้ ระบบงานราชการเป็นระบบการทำงานที่มีมาตรฐาน การที่อยู่ในระดับการกำหนดนโยบาย จึงไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการลงไปปฏิบัติการสั่งการ หรือครอบงำเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติเลยแม้แต่น้อย ทั้งการดำเนินโครงการตามนโยบายดังกล่าวก็เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี และตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาซึ่งต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 171 และ 178
"การทำงานไม่ว่าจะเป็นราชการหรือเอกชน จะต้องใช้หลักการในการบริหารจัดการที่ดี มีการมอบหมายงานโดยเด็ดขาด เพื่อให้มีผู้รับผิดชอบในแต่ละเรื่องแต่ละขั้นตอนที่ชัดเจน"
ดังนั้น เมื่อถูกกล่าวหาก็จำเป็นต้องขอใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ขอทราบพยานหลักฐานและขอตรวจสอบพยานหลักฐาน ตามสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองและกำหนดไว้ เพื่อจะได้ชี้แจงเรื่องที่ถูกกล่าวหาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เข้าใจในเบื้องต้นว่ามิได้กระทำผิดซึ่งเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมที่ก่อนการถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีต่างๆ ผู้ถูกกล่าวหาย่อมต้องมีโอกาสได้ใช้สิทธิ รวมทั้งการขอคัดค้านให้เปลี่ยนตัวบุคคลเป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มอบหมายให้นายวิชา เป็นกรรมการนั้น ขอให้กรรมการ ป.ป.ช. รายอื่นทำหน้าที่กรรมการผู้รับผิดชอบสำนวนการไต่สวนแทน โดยยื่นหนังสือจำนวน 2 ฉบับ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 57 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่เคยได้รับแจ้งจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่าจะอำนวยความยุติธรรมให้หรือไม่
แต่กลับกันคือ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 57 คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ ให้เรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 57 เวลา 14.00 น.ซึ่งหากรวมเวลานับแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งคณะกรรมการไต่สวน เมื่อวันที่ 28 มกราคม 57 จนถึงวันที่มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหารวมเวลาที่ใช้ในการดำเนินคดีเพื่อแจ้งข้อหาเพียง 21 วัน ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนที่กรรมการ ป.ป.ช. เคยปฏิบัติต่อการไต่สวนในคดีทางการเมืองอื่นๆอย่างเช่นคดีของดิฉัน
มีข้อสังเกตที่มาใช้เปรียบเทียบได้ด้วยว่าคดีที่บุคคลรัฐบาลที่แล้วสมัยเมื่อเป็นรัฐบาลก็ถูกกล่าวหาในเรื่องทุจริต ในการปฏิบัติหน้าที่ในหลายคดีเช่นกัน เช่น คดีระบายข้าวถูกกล่าวหาว่ามีการทุจริต แต่ปรากฏว่าคดีไม่มีความคืบหน้าใดๆ